ที่ประชุมครม. อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลืออุทกภัยแบบเหมาจ่าย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ครอบคลุม 57 จังหวัด 67,296 ครัวเรือน นายกฯ ย้ำกทม. น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม. ได้อนุมัติให้ทบทวนหลักเกณฑ์เยียวยาการจ่ายเงินช่วยเหลืออุทกภัย เปลี่ยนเป็นช่วยเหลือแบบเหมาจ่าย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. 17 กันยายน 67 จำนวนเงิน 3,045 ล้านบาท
ส่วนอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เดิมที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. แบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน หรือภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/ครัวเรือนละ และกรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันนานกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 7,000 บาท/ครัวเรือน
รวมทั้งกรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันกว่า 60 วันขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือ 9,000 บาท/ครัวเรือน
สำหรับผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับเงินชดเชยในอัตราเดิมจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มให้ครบจำนวน 9,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ใหม่
พื้นที่ผู้ได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด 57 จังหวัด ครอบคลุม 67,296 ครัวเรือน ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตรพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร
แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ล่าสุด ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบซึ่งหน่วยงานได้รายงานผลว่าทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่จะเสร็จตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้รวมถึงในตัวของพื้นที่ของแม่สาย
ส่วนพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และที่อำเภอแม่แตง โดยเฉพาะในพื้นที่ปางช้างมีช้างเสียชีวิต มีกำลังพลทหารได้เคลื่อนย้ายช้างที่เสียชีวิต 2 เชือกออกจากพื้นที่แล้ว รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ปัจจุบัน ระดับน้ำที่จ. เชียงใหม่กับเชียงรายเริ่มลดลงแล้ว คาดว่าภายในระยะเวลา 4 – 5 วัน ทุกอย่างน่าจะกลับไปสู่สภาวะปกติ ส่วนจังหวัดลำปางและลำพูน คาดว่าจะมีน้ำจากจังหวัดเชียงใหม่ไหลลงไปสมทบ แต่อาจไม่ได้มีน้ำท่วมมากนัก เนื่องจากมีการปล่อยน้ำไปเขื่อนภูมิพล และแม่น้ำโขงแล้ว
ในพื้นที่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 แน่นอน เพราะแม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อีกเยอะ ต่างจากปี 54 ที่รับน้ำได้เพียงพันกว่าลูกบาศก์เมตร แต่ ณ ขณะนี้ รองรับน้ำได้ 6,000 กว่าลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นขอให้ประชาชนคลายกังวลในประเด็นนี้ เพราะรัฐบาลมีแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
ส่วนประเด็นการปล่อยน้ำนั้นพยายามจะไม่ให้กระทบกับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการคอส. แล้วจะประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า และวางแผนในการป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาวในการประชุมครั้งหน้า ภายหลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา ในเรื่องของการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
ข้อมูลจาก : รัฐบาลไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนโพสต์ ‘รศ.ดร.เสรี’ เตือนน้ำท่วมเชียงใหม่ โดนปรามาสยับ สุดท้ายท่วมไม่เหลือ
- รายชื่อ 16 ชุมชน นอกคันกั้นน้ำ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมหนัก 11 วัน แม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ล้น
- “เล็ก แสงเดือน” ขอจบดราม่า แจงปมขายทัวร์วันน้ำท่วม ใครล้ำเส้น ใช้สิทธิตาม ก.ม.