นักวิชาการ วิเคราะห์ 12 เหตุผล หลังคะแนนนิยม ‘นายกอิ๊งค์’ นำอันดับ 1
นักวิชาการ วิเคราะห์ 12 เหตุผล หลังคะแนนนิยม นายกอิ๊งค์ นำอันดับ 1 นิด้าโพล บุคคลที่ประชาชนสนับสนุน แซงหน้า เท้ง ณัฐพงษ์
จากกรณที่นิด้าโพล เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567 จากการสำรวจว่าบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดยพบว่าอันดับหนึ่งเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ออกมาวิเคราะห์ ถึงผลสำรวจนิด้าโพล โดยระบุว่า “แกะรหัสโพลนิด้าที่ซ่อนอยู่ 12 ประการที่มีต่อนัยยะทางการเมืองไทย”
1.การที่นายกฯเศรษฐาหลุดเวทีการเมือง ทำให้คะแนนเพื่อไทยไม่กระจาย ทั้งก้อนจึงเทมาที่นายกฯอิ๊งค์คนเดียว
2.ภาพตัวนายกฯอิ๊งค์ในการเป็นตัวจริงทางการเมือง (ปัจจุบัน) กับภาพข้างหลัง (สมัยนายกฯเศรษฐาเป็นเบอร์หนึ่ง) ทำให้คะแนนนายกฯอิ๊งค์ขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะภาพลักษณ์การเป็นผู้นำทางการเมืองเบอร์หนึ่งชัดเจน คนจึงแสดงออกในความชัดเจนผ่านการเทคะแนนนิยมให้
3.การที่คุณพิธาหลุดเวทีการเมือง ส่วนหนึ่งของคะแนนสนับสนุนคุณพิธามีแนวโน้มย้ายมาที่นายกฯอิ๊งค์ เพราะหัวหน้าเท้งไม่สามารถช้อนคะแนนแม่ยกคุณพิธามาได้หมดกระดาน ฐานคนกลุ่มนี้ที่หลุดไปน่าจะมีลำดับความชอบในใจ เช่น คุณพิธา นายกฯอิ๊งค์ คุณเท้ง ฯ ดังนั้น พอไม่มีคุณพิธา ส่วนหนึ่งเลยสวิงกลับมาที่นายกฯอิ๊งค์ เพราะอย่าลืมว่าครั้งหนึ่งคะแนนก้อนที่สนับสนุนเพื่อไทยและก้าวไกลคือก้อนฝั่งประชาธิปไตยก้อนเดียวกันในช่วงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เมื่อไม่มีคุณพิธา คะแนนไม่ไหลไปตามพรรคประชาชนถึงหัวหน้าเท้ง
4.กระแสแจกเงินสดหนึ่งหมื่นบาทว่าได้แน่นอน ส่งผลยกระดับฐานนิยมในตัวนายกฯอิ๊งค์และพรรคเพื่อไทย เพราะกลุ่มคนที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าสองหมื่นบาทจากกลุ่มตัวอย่างมีถึง 72 % ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ (แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.00 ไม่มีรายได้ , ร้อยละ 19.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท และร้อยละ 31.70 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท)
5.คะแนนนิยมตัวนายกฯอิ๊งค์มากกว่าตัวพรรคเพื่อไทย ราว ๆ 4% ถือว่าไม่ห่างกัน แสดงว่าคะแนนนิยมในตัวพรรคกับตัวบุคคลมีลักษณะเป็นก้อนเดียวกัน เมื่อเทียบกับผลโพลครั้งก่อน ๆ บ่งชี้ได้ว่าการขึ้นมาเป็นตัวจริงของนายกฯอิ๊งค์เพียงคนเดียวในนามพรรคเพื่อไทย ทำให้คะแนนฐานนิยมก้อนนี้กลับมาเข้าที่เข้าทางสอดรับกันในทิศทางเดียว ระหว่างคะแนนนิยมในตัวพรรคและคะแนนนิยมในตัวบุคคล
6.คะแนนนิยมตัวพรรคประชาชน มีมากกว่าตัวหัวหน้าเท้ง ราว ๆ ร้อยละ 11 ทำให้ต้องเกิดแคมเปญ “เท้งทั่วไทย” แคมเปญชื่อนี้ชัดเจนว่าต้องการสร้างความนิยมในตัวบุคคลคือคุณเท้ง แต่คะแนนนิยมในตัวคุณเท้งที่ปรากฏออกมาในนิด้าโพลครั้งนี้ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นเหมือนกันว่าถ้าเป็นคุณไหม (ศิริกัญญา) เป็นหัวหน้าพรรค จะมีกระแสนิยมมากกว่านี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้คุณไหมเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้นำสามคนคือคุณพิธา-คุณชัยธวัช-คุณไหม ในสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
7.คะแนนส่วนของ “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้“ เพิ่มเพียงราว ๆ 3 % และ “ยังหาพรรคที่เหมาะสมไม่ได้” ค่อนข้างคงที่ แสดงว่า คนกลุ่มนี้มีความชัดเจนทางความคิดว่าต้องการทางเลือกใหม่หรือรูปแบบใหม่ ๆ ทางการเมือง เป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ที่จะมาหยิบฉวยคะแนนก้อนนี้ไปครอบครองได้
8.ผลโพลที่ออกมาสามารถอนุมานได้ว่าคะแนนส่วนเพิ่มในตัวนายกฯอิ๊งค์ มีเงาคะแนนคุณทักษิณในนั้น เพราะดูเสมือนว่านายกฯ ที่นามสกุลชินวัตรสามารถดึงฐานคะแนนความนิยมกลับคืนมาในตัวนายกรัฐมนตรีได้พอสมควร นั่นหมายความว่าเดิมทีต้องมีคะแนนความนิยมในส่วนนี้อยู่แล้ว ต่อมาหายไป และสามารถกลับคืนมาได้ในเวลาอันรวดเร็วภายใต้แบรนด์ชินวัตรเดียวกัน
9.คะแนนนิยมในตัวนายกฯอิ๊งค์นำคุณเท้ง ประมาณ 8 % ในทางสถิติตัวบุคคลถือว่าห่างพอสมควร ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ถ้าเป็นชื่อคุณพิธาจะไม่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ส่งนัยยะว่าการที่ลบชื่อพรรคก้าวไกลและหัวหน้าพรรคคนเดิมออกไปจากการเมืองไทยได้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากพอสมควรอย่างที่เห็นในผลโพลรอบนี้
10.คะแนนนิยมในตัวพรรคประชาชน ร้อยละ 34.25 นำพรรคเพื่อไทยที่มีร้อยละ 27.15 เพียง 7 % ถือว่ามีระยะห่างน้อยที่สุดในรอบหนึ่งปีครึ่ง จึงนับได้ว่าเป็นความอันตรายของพรรคประชาชน เนื่องจากอัตราเร่งการทวงคะแนนกลับคืนของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาน้อยในการลดช่องว่างเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังได้นายกฯคนใหม่ พรรคประชาชนต้องถอดสลักช่องว่างของคะแนนตรงนี้ให้ได้ หากหวังจะชนะเลือกตั้งในอีกสามปีข้างหน้า
11.คุณพีระพันธุ์แข็งแกร่งขึ้นฝั่งอนุรักษ์นิยม เป็นนัมเบอร์วันฝั่งขวาทางการเมือง คะแนนเพิ่มเกือบ 2 % ซึ่งฐานเสียงของฝั่งอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นก้อนที่ไม่ใหญ่ ดังนั้นการได้รับความนิยมเพิ่มเกือบร้อยละ 2 จากก้อนที่ไม่ใหญ่ จึงถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเชิงเปรียบเทียบ
12.มาเจาะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พบว่า คะแนนตัวบุคคล คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้รับร้อยละ 8.65 ส่วนคะแนนตัวพรรค ได้รับร้อยละ 9.95 ระยะห่างกันเพียง 1 % กว่า ๆ ถือว่าคะแนนนิยมพรรคกับบุคคลเป็นก้อนเดียวกัน แทบไม่มีช่องว่างอีก จึงน่าคิดว่าจะขยายมากกว่านี้ได้อีกหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง