การเงินเศรษฐกิจ

เช็กเลย คลังเล็งเปิดลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่ มี.ค. 68 ใครได้บ้าง

คลัง จ่อเปิดลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน รอบใหม่ มี.ค. 68 คาดเกณฑ์-สวัสดิการเดิม เล็งทบทวนสิทธิทุก 2 ปี เผยแผนเก็บภาษีเงินได้แบบติดลบ ช่วยผู้มีรายได้น้อย

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 สำนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง วางแผนเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนรอบใหม่ ในเดือนมีนาคม 2568 เพื่อทบทวนคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ หลังจากการลงทะเบียนรอบล่าสุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 คาดว่าในรอบนี้หากเปิดลงทะเบียนจะมีการทบทวนเงื่อนผู้ได้รับสิทธิเข้าโครงการใหม่

Advertisements

แผนการที่กระทรวงการคลังได้เตรียมไว้คือ มีการทบทวนสิทธิใหม่ทุก 2 ปี เพราะอาจมีประชาชนบางกลุ่มหลุดเกณฑ์ หรือผู้ที่พลาดรับสิทธิในโครงการฯ จากการตรวจสอบจำนวนผู้ลงทะเบียนในรอบที่แล้วเมื่อปี 2565 มีผู้ลงทะเบียนกว่า 14.9 ล้านคน ปัจจุบันเหลือ 13.5 ล้านคน ซึ่งจำนวนที่ลดหายไปเนื่องจากผู้รับสิทธิเสียชีวิตไปแล้ว

ใครมีสิทธิลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’

สำหรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ เบื้องต้นคาดว่าจะยังคงเดิม โดยพิจารณาทั้งรายได้และทรัพย์สินของผู้ลงทะเบียนและครอบครัว ตามรายละเอียดดังนี้

  • ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
  • อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • มีรายได้คนละไม่เกิน 100,000 บาท/ปี หรือภายในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
  • ทรัพย์สินทางการเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท/คน ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ต่าง ๆ หรือในระดับครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
  • เป็นผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน เกินจากเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
  • ไม่มีบัตรเครดิต ไม่มีวงเงินกู้บ้านตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป
  • วงเงินกู้ซื้อรถตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

บุคคลเหล่านี้ห้ามลงทะเบียน ‘บัตรคนจน’

  • พระภิกษุ สามเณร
  • ผู้ที่กระทำผิดตามหลักข้อกฎหมาย ผู้ต้องขัง
  • บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ
  • ข้าราชการการเมือง ได้แก่ สส. และ สว.

ผู้ถือ ‘บัตรคนจน’ ได้รับสวัสดิการใดบ้าง

สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล ช่วยอุดหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จากข้อมูลเบื้องต้นจะได้รับตามสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุในปี 2565 ดังนี้

  • วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 300 บาท/คน/เดือน
  • วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาท/คน/เดือน
  • ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม จำนวน 80 บาท/คน/3 เดือน
  • บรรเทาภาระค่าน้ำประปา จำนวน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน
  • บรรเทาภาระค่าไฟฟ้า: 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน

สวัสดิการเหล่านี้ใช้งบประมาณราว 4,800 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปีเดือน ทั้งนี้ ต้องคอยติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากรัฐบาลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างไรบ้าง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยถึงความคืบหน้าของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax (NIT) ตามนโยบายรัฐบาล เป็นนโยบายช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยยืนยันว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีฐานข้อมูลและผลการศึกษาบางส่วนอยู่แล้ว

Advertisements

ปัจจุบัน ระบบภาษีและสวัสดิการของประเทศไทยยังแยกกันอยู่ โดยกรมสรรพากรดูแลเรื่องการจัดเก็บภาษี ขณะที่การจ่ายสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยผู้พิการ เบี้ยคนชรา หรือเงินอุดหนุนบุตร ดำเนินการผ่านกรมบัญชีกลาง กองทุนประชารัฐ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ระบบ NIT จะรวมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน โดยผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์จะเสียภาษี ส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐ

ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า หากนำระบบภาษีเงินได้แบบติดลบมาใช้จริง อาจต้องยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและสวัสดิการอื่น ๆ แล้วเปลี่ยนมาจ่ายผ่านระบบดังกล่าวแทน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่เกินระยะเวลา 2 – 3 ปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button