ซิมบับเว สั่งฆ่าช้าง 200 ตัว แจกเนื้อปชช. แก้ปัญหาอดอยาก ฝ่าภัยแล้ง
รัฐบาลซิมบับเว เตรียมแผนล้มช้าง 200 ตัว เพื่อนำเนื้อไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่อดอยาก จากปัญหาภัยแล้งในรอบหลายทศวรรษ ท่ามกลางคำวิจารณ์ของนักอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ CNN รายงานว่า รัฐบาลซิมบับเวอนุมัติแผนการฆ่าช้าง จำนวน 200 ตัว เพื่อนำเนื้อช้างมาแจกประชาชนที่กำลังเผชิญกับความหิวโหย จากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ด้าน “ทินาเช ฟาราโว” โฆษกของสำนักงานอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศกำลังเผชิญปัญหาหิวโหยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดเป้าหมายที่จะฆ่าช้างประมาณ 200 ตัว พร้อมให้ข้อมูลว่า ซิมบับเวมีช้างมากเป็นอันดับ 2 ของโลก จำนวน 84,000 ตัว แต่มีพื้นที่ป่ารองรับได้เพียง 45,000 ตัวเท่านั้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาเช่นนี้ ในเดือนที่แล้ว ประเทศนามิเบียตัดสินใจฆ่าช้างจำนวน 700 ตัวและสัตว์ป่าอื่น ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน ทำให้ประชาชนไม่มีอาหารบริโภค การตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์และนักอนุรักษ์
กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการท่องเที่ยวของนามิเบีย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนที่แล้วจนถึงขณะนี้ มีสัตว์มากกว่า 150 ตัวถูกฆ่าแล้ว และเนื้อสัตว์ประมาณ 125,000 ปอนด์เพื่อแจกให้กับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอดอยาก
นอกจากนี้ “ซิเธอึมบิโซ โยนี” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เขาสนับสนุนการฆ่าช้าง เพราะหากช้างมีจำนวนมากเกินไป ทำให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรในการดำรงชีพ ทั้งยังเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้าง เนื่องจากจำนวนที่มากเกินไป ส่งผลให้แหล่งที่อยู่ไม่เพียงพอ จนต้องออกมาป่ามาอาศัยอยู่ในเขตชุมชนของผู้คน
เขาเปิดเผยแผนการดำเนินการ ระบุว่า ขณะนี้กำลังหารือกับสำนักงานอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว และชุมชนบางแห่งเพื่อฆ่าช้างอย่างที่ประเทศนามีเบียเคยทำ รวมทั้งระดมกำลังผู้หญิงในชุมชนมาช่วยตากเนื้อและบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ซิมบับเวและนามิเบียเป็นเพียงสองในหลายประเทศทั่วแอฟริกาตอนใต้ ที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีฝนตกน้อยมากในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ ยังมีความเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ การฆ่าช้างในซิมบับเวและนามิเบียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ผู้นำกลุ่มสนับสนุนทรัพยากรธรรมชาติ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่าน X ระบุว่า ต้องหยุดการฆ่าช้าง เพราะช้างมีสิทธิ์ที่จะดำรงอยู่เช่นเดียวกัน รวมทั้งคนรุ่นหลังควรจะเห็นช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมัน
ไม่เพียงเท่านั้น นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์และที่ปรึกษาด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น กังวลกับการฆ่าสัตว์ป่าเพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องปัญหา โดยบอกกับ CNN ว่า การแก้ปัญหาเช่นนี้อาจถูกนำมาใช้อีก หากประชาชนขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน
ทินาเช ฟาราโว กล่าวว่า การตัดสินใจฆ่าช้างของซิมบับเว เป็นการฆ่าครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988 เนื่องจากต้องการลดจำนวนช้าง หลังจากเกิดเหตุช้างโจมตีมนุษย์หลายครั้ง พร้อมเสริมว่า สัตว์ต่าง ๆ กำลังสร้างความเสียหายในชุมชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้หญิงคนหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศถูกช้างฆ่า ซึ่งสัปดาห์ก่อนก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ดังนั้น การฆ่าช้างจึงเป็นวิธีการควบคุมปัญหานี้ได้ ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในปีนี้มีผู้คนอย่างน้อย 31 คนเสียชีวิตจากความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
ข้อมูลจาก : cnn
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนุ่มอูกันดา ติดคุกในซิมบับเว 3 สัปดาห์ เหตุครอบครองเซ็กซ์ทอย
- กาสิโนแบน ‘โหรซิมบับเว’ ทายเลขถูกกวาดเงินล้าน อ้างพระเจ้ามอบนิมิตให้
- เด็กหญิง 11 ขวบชาวซิมบับเว สู้ยิบตากับจระเข้ ช่วยเพื่อน 9 ขวบรอดหวุดหวิดมบับเว