เกษียณไปอุ่นใจแน่ เพราะมี “เงินบำนาญชราภาพ” จากสำนักงานประกันสังคมคอยดูแลอยู่ หลังจากเกษียณ หรืออายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ ตรวจสอบเงื่อนไขและวิธีการคำนวณเงินได้ที่นี่
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม เมื่อถึงวัยเกษียณก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้มากนัก เพราะนอกจากเงินเก็บสะสมส่วนตัวแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคมอีกด้วย โดยเงินดังกล่าวมาจากเงินเดือนที่ถูกหักสะสมไว้ทุกเดือนในอัตรา 5% สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือคิดเป็นเงินสะสมตั้งแต่ 250-750 บาทต่อเดือน
ประเภทของเงินชราภาพ
- เงินบำเหน็จชราภาพ รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข
- จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
- จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน
โดยรับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย รวมกับเงินสมทบนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทน
2. เงินบำนาญชราภาพ รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข
- จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5%
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพ คือ เงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นเงินก้อน ส่วนเงินบำนาญชราภาพคือ เงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับรายเดือนไปตลอดชีวิตกรณีเงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของ ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงิน สมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือนจะได้อัตราเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอีกอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน ผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับบำนาญให้จ่ายบำเหน็จแก่ทายาท เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย ด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
เงื่อนไขในการยื่นรับสิทธิประโยชน์
- เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39
- อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- เป็นผู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เฉพาะเงินบำเหน็จชราภาพ
เอกสารที่ต้องเตรียม
ประชาชนที่ต้องการยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม ต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส.2-01
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หรือพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชน
การคำนวณเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับเงินเดือนและระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ ตัวอย่างเช่น หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และส่งเงินสมทบต่อเนื่อง 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปี จะสามารถขอรับเงินบำนาญได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ 2 รูปแบบ ดังนี้
- รูปแบบที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน รวมระยะเวลา 15 ปี จะได้อัตราเงินบำนาญ 20%
- รูปแบบที่ 2 คือการคิดเงินในปีที่ 16 ถึง ปีที่ 20 รวมระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5%
ฉะนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 4,125 บาท/เดือนตลอดชีพ
สำหรับบำเหน็จชราภาพจะจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายในกรณีชราภาพ เฉพาะส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว
ส่วนผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์แทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง