รู้จัก “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการรทสช. ดีกรี รมว.อุตสาหกรรม ป้ายแดง
เปิดประวัติ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จากอดีตแกนนำ กปปส. สู่ รมว.อุตสาหกรรม ยุครัฐบาลแพทองธาร ผู้มีศักดิ์เป็นลูกบุญธรรม สุเทพ เทือกสุบรรณ
ถึงแม้รายชื่อส่วนใหญ่ใน ครม. ในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจะไม่หลุดจากโผนัก แต่ก็มีม้ามืดอย่าง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แทนนางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล จากพรรคเดียวกัน ซึ่งไม่เกินความคาดหมายในความคิดของบุคคลที่ติดตามข่าวการเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะก็มีกระแสข่าวที่เอกนัฏถูกเสนอชื่อเป็น รวอ. อยู่ก่อนแล้ว
ทว่าประชาชนทั่วไปอาจรู้สึกคุ้นหูชื่อของชายคนนี้ในฐานะหนึ่งในแกนนำ กปปส. มากกว่าบทบาทในมาดสส. ทำให้บทความนี้เราขอพาไปย้อนดูจุดเริ่มต้นทางการเมืองของเอกนัฏกันว่าผ่านสมรภูมิอะไรมาบ้าง
ชีวิตส่วนตัว ในนามลูกบุญธรรม “สุเทพ”
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ หรือชื่อเล่น ขิง เกิดวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2529 เป็นลูกชายคนที่ 2 ของนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ กับนางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ อดีตสส. จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องร่วมสายเลือดคือ สิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์ (พี่ชายโขง) และ ธีราภา พร้อมพันธุ์ (น้องสาวเข็ม) ทั้งนี้ ขิงยังเป็นคนชอบการเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล-ฟุตซอล และชอบสะสมแว่นตาต่าง ๆ หลายชิ้น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ขิงจบการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร ก่อนตัดสินใจไปศึกษาชั้นมัธยมข้ามประเทศที่ โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ Charterhouse School กอดาลมิง เทศมณฑลเซอร์รีย์ สหราชอาณาจักร ด้วยดีกรีนักเรียนทุนอันดับที่หนึ่ง และสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีควบปริญญาโท ใน 2 สาขา EEM (Engineering, Economics and Management)จาก มหาลัยออกซฟอร์ด University of Oxford สหราชอาณาจักร
กระทั่งเวลาผ่านไป นางศรีสกุลได้หย่าร้างกับพรเทพในปี 2537 และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ ลุงกำนัน แบบจดทะเบียนสมรส ทำให้สุเทพมีศักดิ์เป็นพ่อบุญธรรมของขิงนับแต่นั้นมา
จากอดีต กปปส. สู่ รมว.อุตสาหกรรม
ขิงเริ่มมีบทบาทในแวดวงการเมืองครั้งแรกจากการเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนเคียงข้างตลอดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงเดือนเมษายน ปี 52 ก่อนที่จะเริ่มฉายแสงในฐานะ สส. กรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ และรองเลขาธิการพรรคฯ ในการเลือกตั้งปี 54
ต่อมาช่วงอุทกภัยในปีเดียวกัน เอกนัฏได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเขตหนองแขมและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด ซึ่งซื้อใจคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ต่อมาในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย ปี 56–57 เจ้าตัวยังเป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค เพื่อเข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. โดยมีบทบาทเป็นโฆษกชี้แจงข่าวสารทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
กระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน รวมถึงเอกนัฏ ในข้อหากบฏและความผิดอื่น ๆ หลังจากนั้น เอกนัฏได้เข้าอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และจำพรรษาที่วัดป่าอัมพวัน จังหวัดชลบุรี เช่นเดียวกับแกนนำและแนวร่วมคนอื่น ๆ
ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ชื่อของเอกนัฏ กลายเป็นที่พูดถึงครั้ง หลังถูกรับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 เนื่องจากคุณสมบัติด้านอายุที่น้อย เมื่อเทียบกับสมาชิกอาวุโสภายในพรรคท่านอื่น ๆ
ด้านข้อมูลทรัพย์สิน-หนี้สิน ครั้งปฏิบัติหน้าที่ สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อปี 66 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ “ป.ป.ช.” แจ้งว่า เอกนัฏ มีทรัพย์สินมูลค่ารวมทั้งหมด 1,192,047,954.88 บาท ไม่มีหนี้สิน และมีสถานภาพ “โสด”
1. เงินฝาก 2,095,630.28 บาท
2. เงินลงทุน 7,930,000 บาท
บริษัท เจริญผลปาล์ม จำกัด
บริษัท ภาเจริญ จำกัด
บริษัท ชาบู บารู จำกัด
บริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด
3. เงินให้กู้ยืม 327,811,777.10 บาท (บริษัท ชนาพนธ์ จำกัด, บริษัท ภาเจริญ จำกัด และ บริษัท เจริญผลปาล์ม จำกัด)
4. ที่ดิน 115 แปลง 742,192,007.50 บาท (อำเภอ จ.เพชรบูรณ์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา หลายเขตในกรุงเทพฯ และหลายอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี)
5. โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 9 หลัง รวมมูลค่า 107,618,540 บาท (บ้านที่พักอาศัย ย่านศาลาธรรมสพน์ กทม. มูลค่า 43 ล้านบาท และห้องชุด แถวลาดยาว กทม. 8 หลัง)
6. ยานพาหนะ 1 คัน 1,600,000 บาท
7. นาฬิกา Patek Philippe 5146P-001 มูลค่า 1,800,000 บาท
8. พระผงสุพรรณ 1 องค์ มูลค่า 1,000,000 บาท
กอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง