ข่าวการเมือง

พูดให้เข้าใจง่าย “อ.วีระ” ชี้ทุกรัฐบาล จัดงบขาดดุลเรื้อรัง อนาคต 3-5 ปีสาหัสแน่

อาจารย์วีระ ธีระภัทรานนท์ อภิปรายงบปี 68 ชำแหละวงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โยงปัญหาวินัยการคลัง ชี้รัฐบาลจัดงบขาดดุลเรื้อรังมาต่อเนื่องยาวนาน อนาคต 3-5 ปี การเงินการคลังรัฐสาหัส ทุกอย่างล้วนเป็นเงินกู้ ย้ำการทำถูกกฎหมายมิได้หมายความว่าจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

วีระ ธีระภัทรานนท์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลซึ่งตนเสนอตัดลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายในมาตรา 4 เป็นจำนวนเงิน 187,700 ล้านบาท ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันนี้ (3 ก.ย.) โดยนายวีระได้สงวนความเห็นเพื่อนำมาอภิปรายในที่ประชุมให้ทราบเหตุผลและข้อเท็จจริงก่อนที่สมาชิกฯ จะลงมติให้ความเห็นชอบ

Advertisements

ในมาตรา 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายโดยรวมทั้งหมดเอาไว้ 3,752,700 ล้านบาท ถามว่ามีปัญหาตรงไหนทำไมตนถึงเสนอขอให้ปรับลดเป็นจำนวนเงิน 187,700 ล้านบาท ทำให้เหลือยอดวงเงินงบประมาณรายจ่ายฯ เพียงแค่ 3,565,000 ล้านบาท ขออนุญาตที่ประชุมขยายความดังนี้

ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี โดยสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแยกรายการดูความเหมาะสมๆได้เป็น 2 แบบ

แบบแรกเป็นการดูงบรายจ่ายที่ตั้งไว้ว่ามีแหล่งที่มาของรายจ่ายนั้นจากไหน

แบบที่ 2 เป็นการดูรายจ่ายงบประมาณดังกล่าว ว่าจัดสรรแบ่งปันกันอยางไร งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ตั้งวงเงินเอาไว้ 3,752,700 ล้านบาท โดยมีที่มาจากสองทางด้วยกัน 1.รายได้ที่คาดว่าสจะจัดเก็บได้ 2,887,000 ล้านบาท แหล่งที่สองมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอในการใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงิน 865,000 ล้านบาท ที่เราทราบกันดีว่าเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลนั่นเอง

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ แบบชาวบ้านก็คือ เงินดูไม่พอ เลยต้องใช้เงินกู้มาเติม ตรงนี้ตนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลแล้วก็กู้เงินชดเชยการขาดดุลงบฯ มาต่อเนื่องยาวนานจนทำให้ภาระหนี้ในรูปของหนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

Advertisements

การทำงบประมาณขาดดุลแบบเรื้อรังดังกล่าว สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ห่วงใยฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคเป็นอันมาก หนึ่งในนั้นคือตนเองเพราะการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังดังกล่าวทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

สื่อมวลชนอาวุโสที่นั่งตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณ 2568 ยังระบุ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 รัฐบาลมียอดหนี้สาธารณะคงค้างรวมกันทั้งสิ้นมากถึง 11.54 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมด้วยการกู้การขาดดุลงบประมาณ ทั้งในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 และงบประมาณรายจ่ายปี 2568 อีก 865,000 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่ายอดหนี้สาธารณะคงจะทะลุ 12 ล้านล้านบาท และอาจสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปี 2568

สำหรับคำถามที่ว่ายอดหนี้สาธารณะที่ว่านี้มากไปหรือน้อยไป นายวีระกล่าวว่าจะยังไม่กล่าวในตอนนี้ เพราะนั่นไม่สำคัญเท่ากับอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า หากการจัดทำงบเรื้อรังยังดำเนินไปพร้อมกับการกู้ชดเชยขาดดุลไปทุกปีแบบบนี้ สุดท้ายประเทศจะต้องมีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button