เส้นทางการเมือง ศิริโชค โสภา กล้าหัก ปชป. หลังจูบปาก พท.
ย้อนประวัติ-เส้นทางการเมืองของ ศิริโชค โสภา อดีต สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเงา หลังประกาศลาออกจาก ปชป. ไม่ขอสานต่ออุดมการณ์ที่แปลเปลี่ยน
เมื่อแนวทางแตกต่างก็มิพึงร่วมทางกัน ดังเช่นกรณีของอดีต สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ศิริโชค โสภา ที่ประกาศลาออกจากพรรค เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และรับไม่ได้ที่อุดมการณ์ของ ปชป. เปลี่ยนไปจากเดิม ถือเป็นการปิดตำนานหนึ่งในบุคลคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี
เปิดฝีปากครั้งแรกในรัฐบาลทักษิณ
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางการเมืองของ ศิริโชค โสภา เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2544 เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ครั้งแรก และได้แสดงฝีปากฝีมือกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วาระที่ 2 เรื่องการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX ในสนามบินสุวรรณภูมิ
ต่อมาในปี 2550 นายศิริโชค ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย เขตการเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา เก็บคะแนนไปมากถึง 92,927 คะแนน
นายศิริโชคได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ โฆษกรัฐบาลเงา ร่วมทีมกับ ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก ที่ทำหน้าที่ รองโฆษกรัฐบาลเงา หลังเสร็จสิ้นการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวในสภาผู้แทน ราษฎร พร้อมกับจัดตั้งคณะรัฐมนครีเงา (ครม.เงา) เพื่อตรวจสอบแนวทางการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ
บทบาทการเมืองครั้งสำคัญของเขาเริ่มเฉิดฉายอีกครั้ง หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 27 นายศิริโชคได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี และมีบทบาทตอบโต้กับฝ่ายค้านจนได้รับฉายาว่า วอลล์เปเปอร์
นอกจากนี้ นายศิริโชค ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ ทางการเมือง ได้แก่ เลขานุการคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ, เป็นกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร, เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์
แต่งตั้ง ครม.เงา ตรวจสอบ รบ.เพื่อไทย
จากนั้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ยุครัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศิริโชคถูฏรับเลือกให้เป็น รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเงา หลังจากที่ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์คณะที่ 2 เพื่อตรวจสอบพรรคเพื่อไทย
ในส่วนกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากบทบาทของนักการเมืองคือ การเต้นเบรกเด๊นซ์ และยังเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ศิริโชค เคยมีคดีหมิ่นนักธุรกิจชื่อดัง ส่งผลให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้นายศิริโชคชดใช้เงินให้ นาย อนุชา สิหนาทกถากุล จำนวน 2 ล้านบาท
เนื่องจากเห็นว่านายศิริโชค เป็นบุคคลที่เคยทำคุณงามความดีและทำประโยชน์ต่อประเทศ ประกอบกับไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ศาลฯจึงให้รอลงอาญา 2 ปี และโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์รายวัน 4 ฉบับ ติดกันเป็นเวลา 7 วัน
ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ศิริโชคถูกวิจารณ์หนักหลังโพสต์ขอโทษยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 28 ส่อเสียดยิ่งลักษณ์ในรายการสายล่อฟ้า ใช้คำว่า “เอาอยู่” ในทำนองหมิ่นประมาท
ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 50,000 บาท แต่ศิริโชคขอไกล่เกลี่ยโดยขอโทษผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้ยิ่งลักษณ์ยื่นถอนฎีกา แต่ศิริโชคกลับลบโพสต์ขอโทษทันที หลังถูกวิจารณ์หนัก ศิริโชคต้องโพสต์ขอโทษอีกครั้งเป็นเวลา 7 วัน
ปิดตำนานการเมือง ลาออกจาก ปชป.
ล่าสุด ศิริโชคก็ได้ขอลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางพรรคที่จะร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคที่ตนสังกัดอยู่ไม่ทำตามอุดมการณ์แต่กลับไปซบไหล่พรรคเพื่อไทยที่เป็นขั้วตรงข้าม โดยเจ้าตัวในโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“เรียน พี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคารพ กระผมเริ่มชีวิตการเป็นนักการเมือง โดยเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ. 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องอีก 4 สมัย แม้ว่าจะเป็นฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ผมก็ภูมิใจ ที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และได้มีส่วนร่วมกับทีมประชาธิปัตย์ทุกครั้งที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผมยังจำบรรยากาศในสมัยแรก ที่ผมเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องลุกขึ้น อภิปราย ไม่ไว้วางใจ เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง กรณี บริษัทโทรคมนาคม แห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร จนได้รับการเลือกจากสื่อมวลชนให้เป็นดาวสภาฯ และผลจากการอภิปรายฯในครั้งนั้น ทำให้ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า สองหมื่นล้านบาท
คณะบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ผมต้องขอบคุณ มา ณ ที่นี่ ก็คือ พี่น้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ทุกท่านที่ช่วยกันต่อสู้ในสภาฯ อย่างเต็มที่ และที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษคือ นายชวน หลีกภัย และนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คอยสนับสนุน และให้คำปรึกษาผมมาตลอด และที่ขาดไม่ได้คือ พี่ถาวร เสนเนียม ที่คอยช่วยกัน ดูแลพยานปากสำคัญของผม ที่แม้ตอนหลังพยานผมจะเสียชีวิตก็ตาม
ผมไม่เคยที่จะลืมบุญคุณ บุคคลคนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ และพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัด สงขลา ที่ให้โอกาสผมในการทำงาน เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
ผมไม่เคยคิดว่า วันนี้จะมาถึง เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดเสมอว่า ที่นี่คือบ้านเดียวและบ้านหลังสุดท้ายของผม แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน มีอุดมการณ์ ที่ต่างไปจากพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต เป็นอย่างมาก ผมจึงมีความจำใจ ต้องเดินจากไป แม้จะมีความอาลัย อาวรณ์ต่อพรรคมากก็ตาม เพราะผมเชื่อเสมอว่า นักการเมืองต้องมีสัจจะวาจา และอุดมการณ์ที่ต้องรักษา หากปราศจากทั้งสองสิ่งนี้ ก็เป็นได้แค่นักเลือกตั้ง
คืนนี้ทั้งคืน เป็นคืนที่ผมนอนไม่หลับ เพราะเช้านี้แล้ว ที่ผมจำต้องยื่นหนังสือลาออกจากพรรคฯ ที่ผมรักและเทิดทูนที่สุด ทั้งน้ำตา
แต่ผมก็ยังหวัง แม้จะเป็นความหวังอันน้อยๆ ว่าสักวัน พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่ อีกครั้ง พร้อมกับอุดมการณ์ที่มั่นคง และเป็นที่พึ่ง ที่หวังของประชาชนได้ แล้วผมจะเฝ้ารอดูครับ ขอแสดงความนับถือ
นาย ศิริโชค โสภา อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เสรีพิศุทธ์ น้อยใจ ถอนตัวพรรคร่วม ถูกพท.ลืม
- ศาลอุทธรณ์ ยืนคำตัดสิน จำคุก ‘สนธิญา สวัสดี’ 6 เดือน หมิ่น ‘เสรีพิศุทธิ์’
- ‘เสรีพิศุทธ์’ ถอนตัวออกจากขั้วรัฐบาลเพื่อไทย น้อยใจไม่ได้รับความสำคัญ
อ้างอิง : ศิริโชค โสภา