อ่านให้ชัด กฎเหล็กพรรคการเมือง ปล่อย “คนนอกครอบงำ” มีโทษถึง “ยุบพรรค”
จากกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีพฤติการณ์เข้าข่ายยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง
และให้ดำเนินคดีกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมิใช่สมาชิกแต่มีพฤติการณ์ เข้าข่ายกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
ผู้ร้องเรียนยังอ้างอิงคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ประกอบการร้องเรียนให้กกต. ดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ การป้องกันนายทุน และ “เจ้าของพรรค” มีอำนาจเหนือพรรคการเมือง ทำให้กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2560 วางกฎเข้มห้าม “บุคคลภายนอก” ที่ไม่ใช่ “สมาชิกพรรค” แทรกแซง ชี้นำ หรือครอบงำกิจการและสมาชิกพรรค จนขาดความเป็นอิสระ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน)
ระบุ มาตราที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น ดังนี้ “มาตรา 28” ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
มาตรา 108 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ทั้งนี้ กฎหมายพรรคการเมือง วางข้อห้ามไว้สำหรับทั้งพรรคการเมือง และบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่สมาชิก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองมี “นายทุน” หรือ มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคแต่เพียงผู้เดียว และให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ตรวจสอบและนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิด 2+3 คดี นักร้อง-ไอ้โม่ง สอยเก้าอี้นากยกฯ อุ๊งอิ๊ง สงครามไม่มีเลือด มุ่งทำลายกันสุดตัว
- รัฐบาล ชี้ น้ำท่วม 67 ยังไม่น่าห่วงเท่าปี 54 ย้ำงบดูแลพอ ประสาน กสทช. ขยายสัญญาณพื้นที่อุทกภัย
- ‘เพื่อไทย ไม่หวั่นถูกยื่นร้องยุบเพื่อไทย ปม ‘ทักษิณ’ ครอบงำพรรค