ประวัติ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ว่าที่แคนดิเดตนายกคนใหม่ ดีกรีคนสนิทประยุทธ์
ประวัติ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 1 ใน 7 แคนดิเดตพรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้มีชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังเศรษฐา ทวีสิน ถูกปลด
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือ “ตุ๋ย” เกิดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นคนเพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยายา บุตรของพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร พ่อของพีะพันธุ์เป็นผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ปั๊ม ปตท.’ ในด้านครอบครัวส่วนตัวนั้น พีระพันธุ์ มีภรรยาชื่อ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน คือ ชลิตา ภัทร ภัทรพร และภัทรพรรณ
ประวัติการศึกษา “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ศิษย์เก่า รร.เซนต์คาเบรียล
พีระพันธุ์จบการศึกระดับมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อมาศึกษาปริญญาตรี ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอเมริกันทั่วไป จากมหาวิทยาลัยทูเลน ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาขากฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
ผลงานการเมืองอดีตฝ่าย “ตุลาการ”
จุดเริ่มต้นของเส้นทางการเมือง พีระพันธุ์ เคยทำงานเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการมาก่อน และเคยนั่งแท่นผู้พิพากษาประจำกระทรวง ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักงานส่งเสริมตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ก่อนที่จะเปิดประตูสู่เกมการเมืองไทยครั้งแรก ผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท ในพ.ศ. 2539 ในนามของพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ ตุ๋ย พีระพันธุ์ มีผลงานโดดเด่นจากการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะหมวดการจัดซื้ออาวุธของฝ่ายความมั่นคง อีกทั้งเขายังเคยดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ในช่วง พ.ศ. 2544 – 2548 โดยมีบทบาทสำคัญในการสอบสวนการทุจริตโครงการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง (ทางพิเศษบูรพาวิถี) หรือที่ถูกเรียกว่า “คดีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท” ซึ่งในท้ายที่สุดการตรวจสอบของเขาได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนะคดีในชั้นศาลด้วย
ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 พีระพันธุ์ได้ลงรับสมัครอีกครั้ง ในเขต 3 ของกรุงเทพมหานคร และเขาได้รับชัยชนะโดยมีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์รับหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพียงหนึ่งเดียว ได้จัดตั้ง “รัฐบาลเงา” ขึ้นมา ส่งผลให้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้พีระพันธุ์ยังเคยทำหน้าที่ในสภาและเป็นกรรมาธิการในหลายฝ่ายด้วย
- รองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ
- รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552
- กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพิ่มเติมหลายคณะ
กระทั่งในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เขาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ภายใต้รัฐบาลที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และได้รับอีกครั้ง จึงได้เป็นสส.ต่อเนื่องอีกสมัย
ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พีระพันธุ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้ง ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึงปี เขาก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และพ้นจากสภาพการเป็นสส. แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่วันเขาก็ได้กลับมาสู่บทบาทการเมืองอีกครั้ง เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งที่ 140/2565 แต่งตั้งให้พีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 พีระพันธุ์ได้เปิดเผยสังกัดใหม่อย่างเต็มตัว ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 1 วัน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้งให้เขาขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
แต่หลังจากชื่นมื่นกับพรรคใหม่ได้ไม่นาน วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าตนเองกำลังเตรียมยื่นหนังสือลาออก จากการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วย โดยให้เหตุผลว่าหน้าที่ของตนเองในการจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
ผ่านมาได้เพียงเดือนเดียว วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ก็กลับมาสู่อ้อมอกของบิ๊กตู่อีกครั้ง โดยได้รับการแต่งตั้งพีระพันธ์ให้เป็นประธานกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ต่อจากนั้นเขาได้รับหน้าที่ที่ใหญ่ขึ้น โดยได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 ซึ่งเขาได้กล่าวว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่เน้นเรื่องการทำงานเป็นหลัก มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเกมการเมือง
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยมีพลเอกประยุทธ์แต่งตั้งให้เขารับหน้าที่เป็น “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” แทน ดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ยื่นใบลาออกไปก่อนหน้านี้
ในการเลือกตั้งปี 2566 พีระพันธุ์ได้เข้าสู่ศึกเลือกตั้งอีกครั้ง ในฐานะ สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้งให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาอีกสมัย
ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกันนั้น พีระพันธุ์ได้ขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่าการลาออกในครั้งนี้ จะช่วยให้การทำงานในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น
อีกทั้งในเดือนกันยายน 2566 พีระพันธุ์ ได้เลื่อนตำแหน่งอีกครั้งภายใต้รัฐบาลที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้เขาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “รองนายกรัฐมนตรี” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 กันยายน 2566 ซึ่งนับเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สูงที่สุดของพีระพันธุ์
อ้างอิง : วิกิพีเดีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง