ศ.ธงทอง เผย 6 ขั้นตอนเลือก “นายกฯใหม่” หลัง “เศรษฐา” ตกเก้าอี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตที่ปลัดนายกรัฐมนตรี เปิด 6 ขั้นตอน เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่ง ชี้ “รองนายกฯ” ต้องขึ้นมารักษาการแทน
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย มติ 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งหมด เนื่องจาก ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จากคดีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า “พิชิต” ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เอาไว้ว่า นอกจาก “เศรษฐา” คณะรัฐมนตรีชุดเดิมจะยังต้องรักษาการต่อไป จนกว่าจะมีคณะฯใหม่ เนื่องจากราชการแผ่นดินจะหยุดชะงักหรือเว้นว่างไม่ได้ (นอกจากตำแหน่งนายกฯ) ดังนั้นครม.ที่เหลือจะต้องรีบประชุมว่าจะให้รองนายกฯท่านใดขึ้นมารักษาการแทน
หากกล่าวถึงกระบวนการในสภาฯ พรรคการเมืองจะต้องหารือว่าจะนำใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในที่ประชุม โดยการการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้วุฒิสภาไม่เกี่ยวข้อง เพราะอำนาจตามบทเฉพาะกาลจบไปแล้ว จากนั้นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นทางเลือก จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้เมื่อการเลือกตั้งปี 2566 เช่น แพทองธาร, ชัยเกษม – พรรคเพื่อไทย, พลเอกประวิตร – พรรคพลังประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งหลังจบการเลือกนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย จะเข้าสู่ขั้นตอนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
“1. เมื่อนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย เพราะถือหลักอธิบายว่ารัฐมนตรีทุกคนได้รับการสรรหามาจากนายกรัฐมนตรี เมื่อบุคคลต้นทางพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ที่อยู่ในแถวก็ต้องพลอยพ้นไปด้วย
2. แต่ราชการแผ่นดินจะหยุดชะงักหรือเว้นว่างไม่ได้ รัฐมนตรีในชุดเดิม จึงยังต้องรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่
3. เฉพาะตัวอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐาฯ ไม่อาจรักษาการได้ เป็นการพ้นแล้วพ้นเลย คณะรัฐมนตรีส่วนที่เหลืออยู่ ต้องรีบมาประชุมตกลงกัน เพื่อมีมติว่าจะให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดเป็นหัวหน้าทีมในระหว่างนี้
4. ในทางการเมืองก็ต้องรีบมีการหารือกันระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลายเพื่อเตรียมการที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้วุฒิสภาไม่เกี่ยวข้อง เพราะอำนาจตามบทเฉพาะกาลจบไปแล้ว
5. ผู้ที่จะได้รับเสนอชื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้เมื่อการเลือกตั้งปี 2566 เช่น พรรคเพื่อไทยก็ยังมี คุณแพทองธาร และอาจารย์ชัยเกษม พรรคพลังประชารัฐมีพลเอกประวิตร พรรคภูมิใจไทยมีคุณอนุทิน พรรครวมไทยสร้างชาติมีคุณพีระพันธ์ ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นโดนยุบไปเสียแล้ว คุณพิธาก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตัวละครเห็นจะมีอยู่แค่นี้
6. เมื่อได้นายกรัฐมนตรีท่านใหม่แล้ว จึงค่อยจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป”
นอกจากนี้ ใต้โพสต์ดังกล่าว ยังมีชาวเน็ตสอบถามศ.ธงทองเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่สิ้นสุดตำแหน่งตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ยังสามารถโดนแต่งตั้งกลับมาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งศ.ธงทองให้คำตอบสั้น ๆ ว่า “ได้ครับ”
“สอบถามครับอาจารย์ คณะรัฐมนตรีชุดเดิม สามารถโดนแต่งตั้งกลับมาเป็นได้ไหมครับ”
“ได้ครับ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เศรษฐา’ น้อมรับคำตัดสิน เสียใจถูกตัดสินว่าเป็นนายกไร้จริยธรรม
- ประวัติ “ภูมิธรรม เวชยชัย” นั่งเก้าอี้นายกฯ ผู้รักษาการแทน เศรษฐา ทวีสิน
- เปิด 2 ทางออก หลัง “เศรษฐา” หลุดเก้าอี้นายก ยุบสภา หรือเสนอชื่อโหวตนายกใหม่