รวมข้อสงสัยที่ต้องรู้ก่อนลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องมีคุณสมบัติตามที่เงื่อนไขกำหนด ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐให้เสร็จสมบูรณ์ และเริ่มใช้จ่ายวันที่ 1 ตุลาคม 2567
นับถอยหลังวันเปิดลงทะเบียนโครงการแจก เงินดิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลายคนอาจจะยังมีข้อสัยหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นวิธีการลงทะเบียน การยืนยันตัวตน หรือเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ทางทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมคำถามที่ยอดฮิตเกี่ยวกับการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลมาไว้ที่เดียว เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2567
เงินดิจิทัลวอลเล็ตได้รับวันไหน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่า ประชาชนจะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตจำนวน 10,000 ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ และสามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
เงินดิจิทัลวอลเล็ตแลกเป็นเงินสดได้หรือไม่
เงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ หากพบผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชนฝ่าฝืนกระทำความผิด เปิดรับแลกเงินดิจิทัลวอลเล็ตแปลงเป็นเงินสด จะถือเป็นการทำทุจริตจะถูกดำเนินตามกฎหมาย มีโทษทางอาญา และถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการของรัฐในอนาคต
เงื่อนไขใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ผู้ที่ใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตสามารถใช้ได้ในรัศมีอำเภอที่เรามีชื่อในทะเบียนบ้าน ได้แก่ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ ต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) โดยจะมีการตรวจสอบ ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการ, ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการ รวมทั้งพิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันการชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
ใครได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตบ้าง
ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐบาลกำหนด ตาม 5 เงื่อนไข ดังนี้
1. บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2. คนสัญชาติไทย อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายใน 30 กันยายน 2567
3. มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
4. มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี ตามข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566
5. มีบัญชีดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับรับเงินตามนโยบาย
4 กลุ่มถูกตัดสิทธิ์รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต
รัฐบาลตั้งเงื่อนไขผู้มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตไว้ ทำให้มีบุคคล 4 กลุ่มหลุดจากการได้รับสิทธิ์ในโครงการ
1. กลุ่มที่มีรายได้สูง
สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 840,000 บาทต่อปี หากประกอบอาชีพค้าขาย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. กลุ่มที่มีเงินฝากในธนาคารสูง
สำหรับผู้ที่มีเงินฝากทุกบัญชีธนาคารของรัฐรวมกันเกิน 500,000 บาท ตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม 2567
3. กลุ่มที่เคยกระทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐบาล
สำหรับผู้ที่เคยทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐบาลในอดีต โดยตัดสิทธิ์ทั้งประชาชนและร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมนโยบาย
4. กลุ่มบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดี
สำหรับผู้ที่เคยถูกฟ้องร้องเรียกเงินคืนในอดีต โดยตัดสิทธิ์ทั้งประชาชนและร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมนโยบาย
พระสงฆ์ลงทะเบียนรับได้เงินดิจิทัลได้หรือไม่
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พระสงฆ์สามารถลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดว่าห้ามลงทะเบียน
ผู้ป่วยติดเตียง/ผู้พิการ ต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินดิทัลวอลเล็ตซื้อของในร้านค้าที่โครงการกำหนดได้ เช่น “ผู้ป่วยติดเตียง” หรือผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่ใช่ผู้พิการ แต่ไม่สามารถไปใช้จ่ายด้วยตัวเองได้ ต้องคอยติดตามประกาศจากกระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ส่วนผู้พิการจะต้องมีขั้นตอนการยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด เพราะวิธีการใช้จ่ายเงินในโครงการจะแตกต่างกัน แต่ลงทะเบียนด้วยวิธีเดียวกันคือการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ
ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตวันไหน
เริ่มเปิดลงทะเบียนโครงการฯใน วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 8.00 น. ซึ่งการลงทะเบียนรับดิจิทัลวอลเล็ตจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการ ช่องทาง และช่วงเวลาลงทะเบียนที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กลุ่มผู้ใช้สมาร์ตโฟน
ผู้ใช้สมาร์ตโฟนเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ทางแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ทั้งระบบแอนดรอยและไอโอเอส
1. สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ แอนดรอย (Android) โหลดผ่านเว็บไซต์ Google Playstore
2. สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส (iOS) โหลดผ่านเว็บไซต์ Apple Store
ทั้งนี้ สามารถติดตามผลการลงทะเบียนว่าผ่านหรือไม่ผ่านได้ทางแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งต้องคอยติดตามประกาศจากรัฐบาลอีกครั้งว่าเป็นช่วงเวลาใด
2. กลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน
ผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟนสามารถลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท และต้องการให้เจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนให้ สามารถเดินทางไปที่จุดให้บริการ (Walk – in) เพื่อสอบถามข้อมูลและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่จุดบริการ ดังต่อไปนี้
1. ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ
2. ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ)
3. ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ
4. ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ
3. กลุ่มร้านค้า
ร้านค้าที่ต้องการเข้ารร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 โดยร้านค้าที่เข้าเกณฑ์คือ ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น หาบเร่แผงลอย ร้านธงฟ้า
ขั้นตอนเตรียมหลักฐานเพื่อสมัครเข้าโครงการ ประกอบด้วย
1. เลขบัตรประชาชน หรือเลขนิติบุคคลของผู้ประกอบการ
2. หมายเลขโทรศัพท์
3. สถานที่ตั้งร้านค้า
4. รูปถ่ายร้านค้า
5. รายชื่อประเภทสินค้าที่จัดจำหน่าย
จากนั้นนำหลักฐานไปลงทะเบียนได้ทางธนาคารของรัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ สำนักงานเขตอบต.และอบจ. ประจำจังหวัด หรือสมัครผ่านทางแอฟพลิเคชั่นทางรัฐ
ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT), ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)
ยืนยันตัวตนในแอปทางรัฐไม่ได้ ทำอย่างไร
สำหรับผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ หรือมีข้อความระบุว่า “ขออภัย ขณะนี้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวตน กรุณาลองใหม่” เกิดจากปัญหาผู้มีเข้าใช้งานเป็นจำนวนมากส่งผลให้แอปฯล่ม วิธีแก้ไขคือออกจากแอปพลิเคชั่น รอสักครู่ แล้วจึงเข้าใช้งานใหม่อีกครั้ง
หากสแกนหน้าแอปทางรัฐไม่ผ่าน ทำตามขั้นตอนดังนี้
- กรณีที่สแกนใบหน้าไม่ผ่าน สามารถสร้างบัญชีและเข้าใช้งานแอปทางรัฐได้ก่อน
- ออกจากแอปพลิเคชั่น แล้วค่อยกลับมาสแกนใบหน้าภายหลัง โดยกดที่ปุ่มสร้างบัญชี
หากยังไม่สามารถสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนได้ ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
ยืนยันตัวตนได้ช่องทางไหนบ้าง
ช่องทางการยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชั่นทางรัฐสามารถยืนยันตัวตนได้ 5 ช่องทาง ดังนี้
1. เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย ทั่วประเทศ : ติดต่อเจ้าหน้าที่ว่ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางรัฐ
2. ร้านเซเว่น 7-11 เคาน์เตอร์เซอร์วิส ทั่วประเทศ : ยืนยันตัวตนผ่านแอป 7-Eleven แล้วนำ QR ไปแจ้งกับพนักงาน
3. ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ : นำบัตรประชาชนและสมาร์ทโฟน เสียบบัตรกับตู้แล้วทำตามขั้นตอนบนหน้าจอ
4. ตู้เติมบุญ : นำบัตรประชาชนไปเสียบกับตู้บุญเติม โดยเลือกเมนู ทางรัฐ แล้วทำตามขั้นตอนบนหน้าจอ
5. แอปพลิเคชั่น D.DOPA : ดาวน์โหลดแอป D.DOPA มาใช้ แล้วกดปุ่ม เข้าสู่ระบบด้วย D.DOPA
ทะเบียนบ้านไม่ตรงกับที่อยู่ปัจจุบัน ทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่ชื่อในทะเบียนบ้านไม่ตรงกับที่อยู่ปัจจุบัน เช่น มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านภูมิลำเนาเกิด จังหวัดลำปาง แต่มาทำงานกรุงเทพ ไม่สะดวกกลับไปใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ลำปาง รัฐบาลระบุว่าสามารถย้ายทะเบียนบ้านได้ ภายในวันก่อนลงทะเบียน ให้ไปแจ้งย้ายได้ที่อำเภอหรือสำนักงานเขต ก่อนลงทะเบียน 1 วัน เช่น ต้องการลงทะเบียน 1 กันยายน 2567 ต้องย้ายทะเบียนบ้านให้เสร็จสิ้นก่อน 31 สิงหาคม 2567
วิธีย้ายชื่อเข้า-ออกทะเบียนบ้าน
ผู้ลงทะเบียนจะต้องมีทะเบียนบ้านที่เราต้องการจะย้ายไปต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านก่อน
1. การแจ้งย้ายเข้า
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประชาชนของเจ้าบ้าน
- ถ้าเจ้าบ้านไม่ไปเอง ต้องมีหนังสือมอบหมาย + บัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านเซ็นยินยอมแล้ว
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว นำไปยื่นที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตตามที่อยู่ใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและความถูกต้อง รับสำเนาทะเบียนบ้านที่อัปเดตแล้วกลับบ้าน
2. การแจ้งย้ายออก
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประชาชนของเจ้าบ้าน
- ถ้าเจ้าบ้านไม่ไปเอง ต้องมีหนังสือมอบหมาย + บัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- บัตรประชาชนของผู้ย้ายออก
ขั้นตอนการแจ้งย้ายออก ยื่นเอกสารทั้งหมดที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตตามที่อยู่เดิม เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร เจ้าหน้าที่จะประทับตรา “ย้าย” และระบุที่อยู่ใหม่ในทะเบียนบ้าน รับเอกสารและใบแจ้งย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 กลับบ้าน
หากผู้ใดไม่สามารถดำเนินเรื่องที่ว่าการอำเภอต้นทาง สามารถแจ้งย้ายเข้าและย้ายออกพร้อมกันได้เลย เรียกว่า “ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง” ทั้งนี้สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้
วิธีย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน “THAID”
1. เข้าแอปพลิเคชัน “THAID” (ไทยดี)
2. กดเข้าที่ตัวเลือก “การแจ้งย้ายที่อยู่” ในหน้าแรกที่อยู่ในแอปฯ
3. กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน “เจ้าบ้าน” ที่เราต้องการจะย้ายเข้า
4. หลังจากกรอกกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน เรียบร้อยแล้ว จะมีข้อความให้ทำการ ยืนยันตัวตน และให้ความยินยอมยืนยันส่งไปทางเจ้าบ้าน ให้เจ้าบ้าน กดยืนยันและยินยอม
หลังจากเจ้าบ้านกดยืนยันและยินยอม ข้อความจะถูกส่งไปยังนายทะเบียนของสำนักงานเขตหรืออำเภอ จากนั้นนายทะเบียนจะดำเนินการอนุมัติการแจ้งย้ายและแจ้งผลให้ทั้งผู้แจ้งย้ายและเจ้าของบ้านทราบ การย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์จึงจะเสร็จสิ้นแล้ว
เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้ออะไรได้บ้าง
ประชาชนสามารถใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซื้อสินค้าได้ตามรายการสินค้า ดังนี้
- สินค้าบริโภค เช่น ข้าวสาร ปลากระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผักสด ผลไม้ อาหารสด
- สินค้าอุปโภค เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก ซอสปรุงรส
- ยารักษาโรค
- สินค้าสำหรับการศึกษา เช่น ชุดเครื่องแบบนักเรียน ลูกเสือ เนตรนารี รองเท้า เครื่องเขียน
- สินค้าเพื่อการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย
สินค้าที่ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อไม่ได้
เงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าต้องห้าม หรือ Negative List ได้
1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
4. กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม
5. ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม
6. บัตรกำนัล
7. บัตรเงินสด
8. ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
9. น้ำมัน เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ
10. เครื่องใช้ไฟฟ้า
11. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
12. เครื่องมือสื่อสาร
ร้านค้าที่ร่วมโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ และรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ประกอบด้วย ร้านค้าทั้งหมด 6 ประเภท
1. ร้านธงฟ้าประชารัฐ
สำหรับ ร้านธงฟ้า หรือ ธงฟ้าประฃารัฐ ที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 146,000 แห่ง ร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัด
2. ร้านค้าหาบเร่แผงลอย-โชห่วย
ร้านค้าหาบเร่แผงลอย-โชห่วย ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดูแล มีจำนวน 400,000 แห่ง ประกอบด้วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ขายสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ
3. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ และร้านเครื่องดื่มต่าง ๆ
4. ร้านค้าปลีกอื่น ๆ
ร้านขายยา ร้านขายของชำ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านเสริมสวย และร้านค้าอื่นๆ อีกมากมาย
5. กลุ่มเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล 93,000 แห่ง
6. ห้างค้าส่งปลีก และร้านสะดวกซื้อ
ห้างค้าส่งปลีก และร้านสะดวกซื้อ ที่สมาคมค้าปลีกไทยดูแล โดยดำเนินการผ่านกระทรวงพาณิชย์ 50,000 แห่ง คาดการณ์ว่าร้าน 7-11 อาจเข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน
วิธีตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
1. สังเกตป้ายสัญลักษณ์ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะมีป้ายสัญลักษณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
2. สามารถสอบถามผู้ขายได้โดยตรงว่าร้านค้าเข้าร่วมโครงการหรือไม่
3. ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เนื่องจากในอนาคตอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการค้นหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปแถลง ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต เริ่ม 1 ส.ค. แจกภายในไตรมาส 4
- วิธีย้ายทะเบียนบ้าน รับเงินดิจิทัล 10,000 ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล
- ลงทะเบียนทางรัฐ สอนทีละสเตป รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท พรุ่งนี้ ทำง่ายมาก