การเงินเศรษฐกิจ

เจาะสาเหตุ ‘ลาว’ แบนเงินบาท สู่การเกิดแคมเปญ #เซฟเงินกีบ บนโซเชียล

ล้วงสาเหตุ ‘ประเทศลาว’ แบนเงินบาท คาดเหตุผลเพราะเงินลาวอ่อนค่า สินค้าจากไทยครองตลาดในประเทศ ประชาชนใช้เงินบาทซื้อสินค้า สู่การเกิดขึ้นแคมเปญเซฟเงินกีบ #Savelaokip

ขณะนี้โลกออนไลน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกำลังดุเดือด ประชาชนแห่ร่วมแคมเปญ #เซฟเงินกีบลาว หรือ #Savelaokip กันเป็นจำนวนมาก โดยจุดประสงค์ของการรณรงค์ในครั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายค่าซื้อสินค้าในตลาดภายในประเทศ ด้วยเงิน ‘กีบ’ สกุลเงินของชาติลาว ไม่รับเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาท ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันสินค้าจากประเทศไทยครองตลาดลาวมากถึง 80 – 90%

ย้อนดูสาเหตุ ‘ลาวแบนเงินบาท’ ปัญหาระดับชาติ

“ลาวแบนเงินบาททำไม” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘เงินกีบ’ ของลาว อ่อนค่าอย่างหนัก ในรอบ 15 ปี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ น้ำมัน และสินค้าอุปโภคและบริโภค ประกอบกับการที่ลาวเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามากกว่าจะส่งออกสินค้าขายยังต่างประเทศ

ขณะนี้ประเทศที่ครองตลาดลาวได้มากที่สุดก็ยังคงเป็น ‘ประเทศไทย’ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มานานนับสิบปี ทุกการใช้จ่ายผูกติดกับตลาดเงินของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย กล่าวคือ เมื่อซื้อสินค้าจากไทย ชาวลาวก็จำเป็นต้องใช้เงินไทยในการใช้จ่าย นั่นจึงเท่ากับว่าเงินกีบของประเทศไร้ความสำคัญไปโดยปริยาย และนานวันเข้าปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศก็สะสมมากขึ้น ท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาความไม่มั่นคง เงินกีบอ่อนค่าหนักขึ้นทุกวัน

ยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก เมื่ออุตสาหกรรมหลักในประเทศลาวยังไม่เกิดการพัฒนา หรือเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคให้ดีขึ้น ประชาชนก็ไม่เหลือทางเลือกใด นอกจากอุดหนุนสินค้าจากไทย และใช้จ่ายด้วยเงินบาท

#เซฟเงินกีบ
ภาพจาก : ສື່ລາວ

เป้าหมายแคมเปญ #เซฟเงินกีบ

การเกิดขึ้นของ #เซฟเงินกีบ หรือ #Savelaokip มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้เงินกีบ ที่เป็นสกุลเงินของประเทศให้มากขึ้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอุตสหกรรมให้เท่าทันประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เวลานาน หนทางที่ประชาชนชาวลาวพอจะทำได้ในขณะนี้ก็คือ การรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใช้สกุลเงินของประเทศ โดยเชื่อว่าเมื่อทุกคนเริ่มใช้เงินกีบ ปัญหาเงินกีบอ่อนค่า – เงินเฟ้อ ก็จะค่อย ๆ ลดลงและหมดไปในที่สุด

ร้านค้าในประเทศลาวจะกำหนดเงื่อนไขให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้าและบริการเป็นเงินกีบ ไม่รับเงินต่างประเทศทุกสกุลเงิน แต่หากนักท่องเที่ยวต้องการใช้จ่ายด้วยสกุลเงินอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ ร้านค้าจะกำหนดเรทราคาขึ้นใหม่เอง โดยจะตั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของร้านค้าอยู่ที่เรท 1 บาท เท่ากับ 250 กีบ สวนทางกับอัตราแลกเงินจริงที่ 1 บาท จะเท่ากับประมาณ 700 กีบ ซึ่งการทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการบีบให้ทุกคนใช้เงินกีบ

#เซฟเงินกีบ
ภาพจาก : ສື່ລາວ

ลาวแบนเงินบาท ส่งผลต่อไทยอย่างไร

อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ที่เผยต่อสำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านประเทศลาวเคยรณรงค์ให้คนในประเทศใช้เงินกีบ แต่ก็ไม่บรรลุผลเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดลาวมาก สุดท้ายประชาชนก็ต้องกลับมาซื้อขายด้วยเงินบาทเช่นเดิม ดังนั้นกระแสของการรณรงค์ #เซฟเงินกีบ แบนเงินไทย จึงเกิดขึ้นและหายไป

หากจะพูดถึง ‘ผลกระทบ’ ที่อาจเกิดขึ้น คาดว่าการส่งออกจากไทยไปลาวอาจเกิดได้รับความเสียหายเล็กน้อย เพราะเมื่อค่าเงินกีบลดลง ผู้นำเข้าก็ต้องไปหาแลกเงินบาท ซึ่งก็คงจะหายากมากในสถานการณ์เช่นนี้ อาจถึงขั้นต้องหาแลกตามตลาดมืด ทั้ง ๆ ที่สินค้าจากไทยยังคงราคาเท่าเดิม

แม้ขณะนี้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หากในอนาคตประเทศจีนเข้าไปลงทุนในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประเทศลาวมากขึ้น บรรดาของจีนก็จะเข้ามาทดแทนสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ซึ่งคาดว่าอาจประมาณ 5-10 ปีผลกระทบจะรุนแรงขึ้น

#เซฟเงินกีบ
ภาพจาก : ສື່ລາວ

อย่างไรก็ดี ถึงชาวลาวจะมองว่าการแบนเงินไทยจะส่งผลดีต่อปัญหาค่าเงินกีบ แต่หากพิจารณาให้ลึกขึ้นวิธีนี้ไม่ส่งผลดีต่อประเทศลาวแต่อย่างใด เพราะสกุลเงินกีบไม่ค่อยเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เมื่อจะไม่ใช้เงินบาท ลาวก็ต้องนำเงินกีบไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ หรือเงินหยวน เพื่อนำมาใช้จ่ายค่าสินค้า นั่นก็ไม่ต่างจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้แต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button