ข่าว

ครูสาวลาออกจากราชการ ทำเต็มที่แล้ว 6 ปี เผยสาเหตุ ต้องทำงาน 108 ที่ไม่ใช่สอนเด็ก

ครูสาวโพสต์ ขอออกจากราชการครู หลังทำหน้าที่มานานกว่า 6 ปี พร้อมเผยสาเหตุหลักที่หันหลังให้กับอาชีพในฝัน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Mia May ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ชีวิตการเป็นราชการครู มานานกว่า 6 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกในที่สุด หลังพบว่าการเป็นครูไม่ได้มีแค่การสอนเท่านั้น

โดยเธอได้ระบุข้อความไว้ว่า “พรุ่งนี้วันสุดท้ายแล้วกับคำว่าข้าราชการ ครู 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ตอนอ่านหนังสือสอบแทบเป็นแทบตาย ต้้งใจมากเพื่อให้สอบติดได้ประกอบอาชีพครูที่เราคิดไว้..พอสอบติดก็ตั้งใจเพื่อเด็ก 100%”

“ความเป็นจริง อาชีพครูในความคิดว่าจะได้อยู่ห้องเรียนกับเด็กทำแผนการสอนทำสื่อพาเด็กๆทำกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาความคิดจิตใจมุมมองให้เค้าโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีพลังงานดีดีให้แก่เพื่อนมนุษย์”

“ความเป็นจริงครูมีหน้าที่อื่นมากมาย ระบบภายใน งานเอกสารสารพัด งานประเมิน ตรวจสอบ อบรม รับนายตามนโยบาย108 บางคนควบงาน วิชาการ อาหารกลางวัน พัสดุ การเงิน ความเสี่ยงและอื่นๆซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ตั้งใจมาประกอบอาชีพนี้ (ไม่เหมารวมนะคะบางคนอาจชอบงานลักษณะนี้สายนี้แต่ไม่ใช่เรา) งานที่ครูรับผิดชอบอื่นที่นอกเหนือจากการสอน มีมากขึ้นเรื่อยๆความตึงเครียดสะสม เริ่มไม่อยากตื่นจากที่นอน กลับบ้านล้าร่างกายล้าสมองไม่อยากรับรู้ ไม่อยากดิ้นไม่อยากอ้าปากพูด เบื่อหน่ายกับทุกสิ่ง ไม่อยากทำอะไรเลย ร่างกายรวนหมดหาหมอบ่อยขึ้นๆ”

“จนคนในครอบครัวเห็นพร้อมกันว่า อยากให้ลูกเป็นข้าราชการครูนะ แต่พอกลับมาแต่ละวันงานต่างๆที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นๆ สภาพลูก ดูไม่โอเคเลย คิดว่าลูกเป็นข้าราชการลูกจะสบายเพราะถูกสอนมาเป็นแบบนั้น พอมารับรู้จริงๆสภาพจริง รู้ว่าให้ทนลูกทนได้ แต่ไม่ต้องแล้ว ตอนนี้อยากเห็นลูกมีความสุขสดใสมากกว่า..ถ้าเกิดลูกเป็นอะไรมันไม่คุ้มเลย ให้สิทธิการตัดสินใจ…แล้วแต่เรา”

“เลยกลับมาคิดทบทวนในตัวเองว่า ที่เป็นอยู่จากนี้และอีกสิบๆปีโอเคไหม? ตื่นมาแบบนี้ทุกวันโอเคไหม? ใช่รูปแบบการใช้ชีวิตที่ตอบโจทย์การมีชีวิตที่เหลือจากนี้ไหม ? (เราก็มีงานส่วนตัวอื่นๆที่ทำนอกเวลาซึ่งทุกงานมีระบบและคนดูแลอยู่แล้ววางระบบแล้ว) มองไปคนข้างหลัง..เราทำให้ครอบครัวพ่อแม่สุขสบายโอเคแล้ว”

“เริ่มหันมองตัวเองสภาพในกระจกวันแล้ววันเล่า ตกตะกอนมาเป็น_ขอหันหลังให้ระบบนี้ แต่ไม่ได้วางความเป็นครู ประสงค์ที่ดีกับเด็กๆเสมอและตลอดมา ถ้าเรามีทุนสูงขึ้นก็คงให้เด็กๆได้มากขึ้น ให้เด็กๆในรูปแบบอื่นๆ แล้วกันนะ พวกกิจกรรมจิตอาสา การบริจาค สนับสนุน ก็คงจะลงที่ตัวเด็กได้โดยตรงกว่านี้ จะได้พาตัวเองไปเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ใช่งานประจำ ออกมาค้าขายธุรกิจส่วนตัว บริหารงานด้วยตัวเองตามเวลาที่ตัวเองวางปิดนาฬิกาปลุกที่เคยเลื่อนในทุกๆเช้า ออกเรียนรู้ในแบบฉบับของเรา ซื้อประกันชีวิต วางแผนการเงินดีดี ท่องเที่ยวเดินทางพักผ่อนเมื่อวันที่เหมาะสม ก็ไม่มีใครรู้อนาคตหรอกแต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองอยู่ดี ผู้อ่านก็เช่นกัน”

“อย่างว่า ครูคืออาชีพที่เรารักและชอบในการสอน แต่คงไม่ใช่ในรูปแบบระบบนี้ ในระหว่างทางกับนักเรียนมันสวยงามและดีต่อใจมาก ความเป็นครูกับนักเรียนเป็นสิ่งเดียวที่คิดถึงหาในขณะประกอบอาชีพข้าราชการครู หกปีกว่ามานี้ นึกถึงรอยยิ้มเสียงเรียก ความรักบริสุทธิ์สดใสในหัวใจในแววตาของพวกหนู คืออิ่มหัวใจครูที่สุดเลยนะ ทุกอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรี เคารพในความเป็นคนของทุกคนทุกอาชีพทุกความคิดเห็นของการมองจากมุมที่แตกต่าง ขอบคุณช่วงเวลาที่ผ่านมาเต็มที่สุดๆแล้ว ทำตามหน้าที่ตรงนั้นมาเต็มที่แล้ว ขอทำตามใจและรับผิดชอบชีวิตตัวเองในรูปแบบใหม่ต่อจากนี้ เราจะออกไปใช้ชีวิตในอีกแบบที่เลือกแล้วนะ สวมชุดสีกากีวันสุดท้ายกับตำแหน่งข้าราชการครู 25/6/67 ลาละนะ คำว่าข้าราชการ”

หลังจากที่โพสต์นี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้กำลัใจเป็นจำนวนมาก อาทิ “ยินดีด้วยนะเมย์ เราอยากออกจากจุดนี้เหมือนกัน แต่ยังทำไม่ได้ ครอบครัวไม่สนับสนุนให้เราลาออกเลย เราดีใจกับเมย์มาก ๆ เลย ที่ครอบครัวเห็นด้วย รู้เลยว่าชีวิตแบบนี้มันไม่ตอบโจทย์เลยจริง ๆ ขอให้เมย์มีความสุขกับสิ่งที่เลือกนะครับ”

“คิดเหมือนกันกับพี่เลย นี่แหละเหตุผลที่พี่ลาออก ถึงแม้เราจะรักอาชีพนี้มากแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องปล่อยวาง เพราะภาระงานที่เราต้องรับผิดชอบมันมากเกินไป….จงภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราเคยรับราชการกับคำว่าครู”

อ้างอิงข้อมูลจาก : 1

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sorrawit

นักเขียนข่าวกีฬาประจำ Thaiger มีความสนใจในด้านกีฬาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรืออเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงชื่นชอบเกมและอนิเมะเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันสั่งสมประสบการณ์เขียนบทความกีฬาออนไลน์ มากกว่า 4 ปี หัวข้อที่เชี่ยวชาญคือเรื่องกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล ช่องทางติดต่อ gig@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button