ปริญญาตรีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต หลายคนอาจกังวลว่าการเรียนไม่จบปริญญาตรีจะเป็นอุปสรรคในการหางานที่ใช่อนาคต แต่ความจริงแล้วมีโอกาสและทางเลือกมากมายรออยู่ เพียงแค่รู้จักค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน บทความนี้จะพาไปเจาะลึก วิธีการหางานที่ตอบโจทย์ความถนัดและความสนใจ แม้ไม่ได้ถือครองวุฒิปริญญาตรี พร้อมเคล็ดลับในการสร้างความโดดเด่นในสายอาชีพ
วันที่ 17 มิถุนายน 2567 โลกออนไลน์กลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งตั้งคำถามสุดจี๊ดบนเพจ JobThai Official Group ว่า “เรียนไม่จบปริญญาตรี จะไปทำงานอะไรเอาตัวรอดดี?” งานนี้ชาวโซเชียลไม่รอช้า แห่คอมเมนต์กันอย่างล้นหลาม ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า “ถ้ามีความสามารถและพยายาม ยังไงก็รอดตาย!”
ภายหลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ไปเพียง 6 ชั่วโมง มีผู้เข้ามาให้กำลังใจเจ้าของโพสต์ และแชร์ประสบการณ์ว่าแม้จะเรียนไม่จบแต่ก็สามารถหางานได้เช่นกัน หากขวนขวายและพยายามมากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเป็นผู้ที่มีความสามารถ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสในการทำงานเข้ามา รับรองได้ว่ายังไงก็ไม่ตกงานแน่นอน
วิธีเอาตัวรอดยังไงหากเรียนไม่จบปริญญาตรี
ขั้นตอนแรก สำรวจความชอบและความถนัดของตนเอง การค้นพบว่าเราชอบทำสิ่งใดจะทำให้เรามุ่งไปสู่อาชีพที่เราอยากทำได้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งสามารถพัฒนาทักษะในด้านนั้นให้มีความรอบรู้ และเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น
เมื่อรู้ความชอบและความถนัดของตนเองแล้ว ต้องการที่จะเสริมความรู้ และความเชี่ยวชาญ สามารถหาคอร์สฝึกอบรมระยะสั้น หรือเข้าอบรมในโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะเฉพาะทางที่ตรงกับความสนใจได้ที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ที่นี่ หากฝึกจนจบหลักสูตร จะได้รับใบรับรองหลังฝึกอบรม เพื่อนำไปเป็นหลักฐานการสมัครงานในอนาคตได้
สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานเลย ไม่อยากรอฝึกอบรบ ก็มีอาชีพที่สามารถสมัครได้เลยโดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี เพียงแค่คุณมีความสามารถและความมุ่งมั่น ก็สามารถสร้างรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพเหล่านี้ได้เช่นกัน
งานประเภทแรกได้แก่ ช่างฝีมือ งานประเภทนี้เป็นงานที่ต้องมีความอดทน ขยัน มีความรับผิดชอบสูง อาศัยทักษะความรู้ในด้านนั้น ๆ รวมทั้งต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วอาศัยการทำงานเป็นทีม เช่น ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา และช่างเชื่อม
ต่อมา คือ งานบริการ เป็นงานที่ต้องการคนที่ชอบการพบปะ พูดคุยกับผู้คน สามารถจัดการปัญหาเฉพาะหน้าและทำงานใต้ความกดดันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีใจรักการบริการด้วย ได้แก่ พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟอาหาร พนักงานต้อนรับในโรงแรมหรือสถานที่ต่าง ๆ และพนักงานขับรถส่งผู้โดยสารหรือสินค้า
งานด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างผลงานที่น่าสนใจ และมีความแตกต่าง และแปลกใหม่จากคนอื่น ๆ เช่น ช่างภาพ นักเขียนบทความ นวนิยาย หรือสคริปต์ต่าง ๆ นักออกแบบกราฟิก ผู้ออกแบบโลโก้ โปสเตอร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงนักดนตรี ที่ต้องมีความถนัดในการเล่นดนตรี หรือเชื่นชอบการร้องเพลง เป็นนักร้องในวงดนตรีหรือเป็นศิลปินเดี่ยว
สุดท้าย คือ งานด้านเทคโนโลยี งานประเภทนี้เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้เรื่องระบบคอมพิวเตอร์ การตั้งค่าระบบไอทีต่าง ๆ เพราะหากทำพลาดไปอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของบริษัท หรืออาจมีข้อมูลภายในรั่วไหลได้ เช่น นักพัฒนาเว็บไซต์ มีหน้าที่สร้างและดูแลเว็บไซต์ และช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ ที่ซ่อมแซมและบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ อาชีพที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรีในการสมัครงาน สิ่งสำคัญคือการค้นหาความถนัดและความสนใจของตัวเอง แล้วมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือและความสามารถ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในอาชีพที่เลือก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง