ศาลอาญา ยกคำร้อง ‘ทรู’ ลุยฟ้อง ‘พิรงรอง’ ให้ทำหน้าที่ กสทช. ต่อได้
ศาลอาญา ยกคำร้อง ทรู ลุยฟ้อง พิรงรอง รามสูต อนุญาตให้ทำหน้าที่ กสมช. ต่อได้ ชี้พฤติกรรมไม่ได้เป็นไปตามคำร้อง
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ คดี 147/2566 ตามที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวหาว่า ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ดำเนินการให้สำนักงาน ฯ ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่งให้ตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอพพลิเคชัน True ID เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมาย จนอาจถูกระงับเนื้อหารายการ ที่ได้ส่งไปออกอากาศ และโจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าว มีพฤติการณ์ หรือเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
โดยผลการพิจารณาของศาลยกคำร้อง ศาลเห็นว่าพฤติกรรมไม่ได้เป็นไปตามคำร้อง ถือเป็นโอกาสดีที่ กรรมการ กสทช. ยังคงได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญโดยเฉพาะงานด้านโทรทัศน์ และการพัฒนาสื่อคุณภาพให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่อไป โดยงานสำคัญที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.พิรงรอง ประกอบด้วย 1.การจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่รวมถึงการส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์พิเศษสำหรับเด็ก คนดูทุกกลุ่ม และผลิตคอนเทนต์สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์
2.การกำหนดทิศทางและก้าวต่อไปของโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือทีวีดิจิทัล ที่สิ้นสุดใบอนุญาต มีการบ้านที่ต้องพิจารณาต่อไปหลายข้อว่ามีการประมูลต่อไปหรือจะกำหนดอนาคตทีวีดิจิทัล กสทช. กำลังศึกษาและสังเคราะห์ฉากทัศน์ในอนาคตของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ทางเลือกในเชิงนโยบายในการให้อนุญาตและการกำกับดูแล เพื่อเสนอทางเลือกรองรับการสิ้นสุดใบอนุญาต
3.การศึกษาและกำหนดแนวทางรองรับการผลักดันต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล National Steaming Platform ที่อยู่ระวางการวางรูปแบบ และทางเลือก ในการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล การประมาณการต้นทุนของแต่ละทางเลือก
4.การกำหนดกระบวนการ (ทดลอง) และให้อนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชนสำหรับประเทศไทย (Roadmap ทีวีชุมชนต้นแบบ) รวมทั้งมีการจัดทำมาตรการส่งเสริมผู้ให้บริการทีวีชุมชน
5.การทดลองทดสอบการนำเทคโนโลยี UHD (4K) ไปใช้งานในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินและกิจการทางเลือกอื่น และการพัฒนาหลักเกณฑ์และกลไกในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ไทยให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลดการกำกับดูแลโทรทัศน์แบบดั้งเดิม เพิ่มการกำกับแพลตฟอร์ม
6.การกำหนดขอบเขตการโฆษณาให้ชัดเจนและพัฒนากลไกการกำกับโฆษณา (Self-regulation) การบังคับใช้ประกาศออนไลแพลตฟอร์ม/รวมกลุ่ม/ส่งเสริมบริการชุมชน/ส่งเสริมผลิตรายการ
7.การปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) 8.การจัดให้มีการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพที่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ (ประกาศรวมกลุ่ม)
9.งานส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกิจการฯ โดยเฉพาะในบทบาทผู้ประกาศข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้ดำเนินรายการ อย่างเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลาง และมีจิตสำนึกรับผิดชอบ โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ประกอบวิชาชีพและเครือข่ายผู้ชมผู้ฟัง
10.การดำเนินมาตรการตามแผน USO การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประสาสความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคทำศูนย์ USO กับ กสทช. และ มูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี
11.ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์และการใช้สื่อเพื่อการยอมรับความหลากหลายและเข้าใจบริบททางสังคมและการอยู่ร่วมกัน (Diversity and Inclusion) และส่งเสริมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้เพิ่มมากขึ้น
12.การสำรวจระดับการเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร อย่างรู้เท่าทันของประชาชน และเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายในด้านสังคมและวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงทางด้านกายภาพ
และ 13.ยังมีงานที่กำลังเดินสาย สร้างความร่วมมือเพื่อ online safety, literacy and competency สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ห่างไกล ผู้ด้อยโอกาสในเมือง การจะสร้างเกณฑ์ให้ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ การทำระบบการตัดสินตามเกณฑ์ จะใช้คน บวกกับ AI ตรวจจับ การจะดึงภาคีเข้ามาร่วม เช่น ธุรกิจห้างร้าน เอเจนซี่โฆษณา ในการพัฒนาไปสู่การทำสื่อโฆษณาที่ดีเพื่อสังคม
หากคำสั่งศาลมีคำสั่งให้ยุตติการปฎิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะถึงที่สุดย่อมทำให้งานในการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพรวมถึงงานด้านการกำกับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ที่มีเรื่องต้องตัดสินใจและขับเคลื่อนเรื่องสำคัญสำคัญที่เป็นประโยชน์อาจจะชนะงาน แน่นอนว่าด้วยกระบวนการการทำงานของสำนักงาน กสทช. สามารถขับเคลื่อนเรื่องสำคัญต่างๆต่อเนื่องไปได้แต่หากไม่มีผู้เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนย่อมทำให้งานที่ควรจะพัฒนาไปต้องขาดกำลังส่งในการขับเคลื่อนทำให้บรรลุตามเป้าหมายไม่ได้เต็มที่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ่านความเห็นและเหตุผล ‘พิรงรอง’ ค้าน ควบรวมกิจการทรูดีแทค
- มติเอกฉันท์ กสทช. สั่งถอด “ฟุตบอลโลก” ออกจากกฎ Must Have