ข่าว

อ.อ๊อด ตรวจพบ ‘สารก่อมะเร็ง’ ข้าว 10 ปีค้างโกดัง ย้ำห้ามกินเด็ดขาด

‘อาจารย์อ๊อด’ งัดผลตรวจ ตัวอย่างข้าว 10 ปีจากโกดังโครงการรับจำนำข้าว ยืนยันพบ “สารก่อมะเร็ง” ห้ามกินเด็ดขาด แนะรัฐบาลหมักเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขายได้ราคาดีกว่า

ยังคงเป็นเรื่องให้ถกเถียงกันอยู่สำหรับประเด็น “ข้าว 10 ปีกินได้” ซึ่งเป็นข้าวที่ยังเหลืออยู่จากโครงการรับจำนำข้าวในยุคของนายกฯยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่ไปยังโกดังเก็บข้าวดังกล่าว ในจ.สุรินทร์ ก่อนจะนำข้าว 10 ปีมาหุงกินโชว์สื่อมวลชน ย้ำว่ายังกินได้ เพราะเก็บรักษาอย่างดี

ตัวอย่างข้าว 10 ปีจากโครงการรับจำนำข้าว
ภาพจาก : FB Weerachai Phutdhawong

ล่าสุด 10 พฤษภาคม 2567 รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่อง ข้าว 10 ปีกินได้ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Weerachai Phutdhawong ระบุว่า

กินกันไปได้อย่างไรข้าว 10 ปีสีเหลืองอ๋อย กลิ่นเหม็นสาป

อย่างน้อยต้องตรวจหาเชื้อราสารพิษ อะฟลาท็อกซิน ก่อน ตัวนี้กินสะสมนานทำให้เกิดมะเร็ง ผลตรวจออกแล้วอยู่ที่นักข่าวช่องวันไม่ตอบ LINE อาจารย์อ๊อด แต่เผย ผ่านกระทู้นี้ สั้นๆว่าห้ามกินเด็ดขาด ทีมงานช่องวันติดต่อมาด่วน

ส่วนการตรวจด้านเคมีจะทำวันจันทร์หน้า แต่จะบอกสั้นๆว่าตัวเมทิลโปรไมด์ที่ใช้รมควันกำจัดมอดลักษณะทางกายภาพก็สีเหลืองเช่นกัน

ผลตรวจ ข้าว 10 ปี โครงการรับจำนำข้าว
ภาพจาก : FB Weerachai Phutdhawong

ก่อนหน้านี้อ.อ๊อดก็เคยแนะนำแนวทางการนำข้าว 10 ปีมาแปรรูปกลั่นเป็นแอลกอฮอล์เพื่อจำหน่าย โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า “ข้าว 10 ปี เอาไปหมักแล้วกลั่นมาเป็นแอลกอฮอล์ดีกว่าครับ เพิ่มมูลค่า จาก 10 ปีหมักต่ออีกไม่ถึงเดือน ใช้เครื่องกลั่นเหล้า กลั่นเอาแอลกอฮอล์มาใช้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า”

ทั้งนี้อาจารย์ยังให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สารแอฟลาทอกซิน หรือ สารพิษจากเชื้อราในอาหารแห้ง เป็นสารก่อมะเร็งอันตรายชนิดหนึ่ง พยบได้จากเชื้อราบางกลุ่มที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่เก็บไว้นานและอับชื้น

สารแอฟลาทอกซิน
ภาพจาก : FB Weerachai Phutdhawong

ขณะเดียวกันในหน้าเพจเฟซบุ๊กของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว Rice Science Center ก็ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘ข้าว 10 ปี’ ที่อาจมีความปลอดภัยเมื่อถูกเก็บอย่างเหมาะสม และพิจารณาก่อนนำมาบริโภค ซึ่งเป็นบทความจาก ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจีโนม การค้นหาหน้าที่ของยีน และการประยุกต์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า

“ข้าวสารที่เก็บไว้นาน 10 ปี อาจปลอดภัย หากข้าวถูกเก็บอย่างเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายอย่างที่ควรพิจารณาก่อนการบริโภค

บทความโดย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และทีมศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว

1. #เงื่อนไขการเก็บรักษา ข้าวสารควรเก็บไว้ในที่เย็นและแห้ง ห่างจากแสงและความชื้น และควรเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นสุญญากาศหรือมีออกซิเจนน้อย เพื่อขยายอายุการเก็บรักษาและรักษาคุณภาพ หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ คุณภาพของข้าวอาจลดลง

2. #สัญญาณของการเสื่อมสภาพ ก่อนบริโภคข้าวที่เก็บไว้ ให้ตรวจสอบสัญญาณของการเสื่อมสภาพ เช่น กลิ่นผิดปกติ การเปลี่ยนสี หรือการมีแมลงหรือเชื้อรา สัญญาณใดๆ เหล่านี้บ่งชี้ว่าข้าวสารนั้นไม่ควรบริโภค

3. #การสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ แม้ว่าข้าวจะเก็บไว้ดีก็ตาม หากมีการเก็บไว้นาน คุณค่าทางโภชนาการอาจลดลง เช่น การสูญเสียวิตามินบางชนิด เช่น thiamine (วิตามินบี 1) เป็นต้น ดังนั้น ข้าวที่เก็บไว้นาน แม้ว่าจะยังปลอดภัยที่จะบริโภค แต่ประโยชน์ทางโภชนาการอาจลดลง

4. #การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพการหุงต้มและรสสัมผัส คุณภาพหุงต้มของข้าวอาจเปลี่ยนแปลงตามเวลา ข้าวที่เก็บไว้นานหลายปีจะมีโครงสร้างแป้ง (crystalline structure) ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจดูดซับน้ำได้แตกต่างจากเดิม มีผลต่ออุณหภูมิแป้งสุก (gelatinisation temperature) และการคืนตัวของแป้ง (retrogradation) นอกจากนี้ ข้าวที่เก็บไว้นานอาจมีการเปลี่ยนแปลงสี กลิ่น เช่นอาจมีกลิ่นหืน หรือหากเป็นข้าวหอมกลิ่นหอมอาจหายไป นอกจากนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสัมผัส หรือรสชาติเมื่อหุงสุก เช่นอาจมีความร่วนและกระด้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความอร่อยและความพึงพอใจในการรับประทาน อย่างไรก็ตามอาจจะมีประโยชน์หากต้องการคุณสมบัติของแป้งที่ย่อยยาก (resistant starch)

5. #สารเคมีตกค้างจากการเก็บรักษา การเก็บรักษาข้าวในโกดัง จำเป็นต้องมีการรมด้วยสารเคมีป้องกันมอด แมลง หรือเชื้อรา หากมีการรมหลายครั้งเนื่องจากระยะเวลาในการเก็บรักษาที่นาน อาจมีความเสี่ยงของสารเคมีตกค้าง หากไม่สามารถระเหยไปได้หมด สารเคมีที่มีรายงานว่าใช้ในการรมควันข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง ได้แก่ เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) และสารอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminum phosphide) หรือ ฟอสฟีน

6. #สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxin) ข้าวที่เก็บไว้นานยังมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนทางเคมีจากสารพิษจากเชื้อรา เช่น aflatoxins และ ochratoxin A ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น ตับอักเสบ การกดภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะหากข้าวไม่ได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม สารเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แม้ว่าสาร Aluminum Phosphide (AIP) #เป็นสารควบคุมแมลงในโรงเก็บที่ดีอันหนึ่งเพราะเชื่อว่าไม่มีสารตกค้างในเมล็ดข้าว แต่ปัจจุบันพบว่าสาร aip สามารถตกค้างในเมล็ดพืชที่ถูกรมควันได้ ตามปกติปฏิกิริยาเคมีสาร aip จะทำปฏิกิริยากับน้ำจนได้สาร Hydrogen Phosphine (PH3) และสาร Aluminum Oxide ( AO) สาร ph3 ส่วนใหญ่จะฟุ้งกระจายออกไปบางส่วนจะทะลุทะลวงผ่านชั้นเซลล์เมล็ดเข้าสู่เซลล์ชั้นในที่มีแป้งสารอาหารต่างๆ เมื่อเก็บเมล็ดไว้นานจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนทำให้เกิดสารตกค้างที่เรียกว่า phospho-oxyacids และ ortho-phosphate

สารตกค้างเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการระบายอากาศและความร้อนสูง สารตกค้างเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสาร PH3 และความชื้นตั้งต้นของเมล็ดหากมีสาร PH3 สามารถและเมล็ดมีความชื้นสูงจะทำให้เกิดสารตกค้างในปริมาณที่มากขึ้นและทะลุทะลวงเข้าสู่เซลล์ชั้นในได้มากขึ้น สารออกซิเดชันเหล่านี้ 70% สามารถสกัดได้โดยน้ำร้อน นั่นก็หมายความว่าการหุงต้มข้าวที่มีสารตกค้างเหล่านี้จะส่งผลถึงผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่รู้ตัว ส่วนอีก30%ของสารตกค้างที่ไม่ละลายน้ำยังไม่ทราบโครงสร้างทางเคมีที่แน่นอน

มาตรฐานสากลของสารตกค้างสูงสุด (MRL)เหล่าที่กำกับโดย CODEX อนุญาตให้มี ortho-phosphate ไม่เกิน 0.1 ppm ในวัตถุดิบและ 0.01 ppm ในอาหาร ทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าสารตกค้างจากการรมควันข้าวตลอด 10 ปีจะต้องเกินมาตรฐานโลกอย่างแน่จนไม่สามารถบริโภคและส่งออกได้

สารตกค้างจาก PH3 มีผลโดยตรง ต่อผู้บริโภคอย่างไร? เนื่องจากสารตกค้างเหล่านี้สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารได้ ผู้บริโภคจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหายใจติดขัดในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ตายได้

นอกจากสารออกซิเดชันตกค้างเหล่านี้ยังมีสาร Aluminum hydroxide (AH) อีกส่วนหนึ่งที่ตกค้างอยู่ในกองเมล็ดที่ถูกรมควัน AH จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงหากบริโภคจะทำให้เกิดการชักกระตุก กระดูกอ่อน และ สมองเสื่อม รวมทั้ง ความจำเสื่อม ตัวสั่นกระตุก และยังทำให้นิสัยเปลี่ยนไปจนถึงขั้นวิกฤต

ในส่วนของสารพิษ (Toxin) ตกค้างที่สำคัญคือสารก่อมะเร็ง Aflatoxinsซึ่งทนความร้อนสูงและล่าสุดการค้นพบสารพิษBongkrekic acid (BKA) ในเส้นก๋วยเตี๋ยวใหญ่ในประเทศไต้หวันที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไต้หวัน 2 คนเสียชีวิต ก็เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เนื่องจากสาร BKA เกิดจากเชื้อสาเหตุในกลุ่ม Burkholderia ซึ่งเป็นแบคทีเรียสาเหตุของโรคในพืชหลายชนิดรวมทั้งในข้าว ที่ทำให้เกิดโรคเมล็ดด่างดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับข้าว 10 ปีที่เก็บไว้เหล่านี้

#จากเหตุผลทั้งหมดที่นักวิชาการหลาย ๆ สถาบันได้ประมวลขึ้นมารัฐบาลควรพิจารณาทบทวน นโยบายบริโภคข้าว 10 ปีและเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เริ่มประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยทางอาหารอย่างรอบคอบก่อนแล้วเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการใช้ข้าว 10 ปีเหล่านี้อย่างมีประโยชน์ ไม่เกิดโทษกับผู้บริโภค และไม่ทำลายชื่อเสียงของข้าวไทยที่ได้ชื่อว่ามีมาตรฐานข้าวที่ดีที่สุดในโลก

ที่มาภาพประกอบกระทรวงพาณิชย์
#ข้าวสาร #ข้าว10ปี #สุขภาพ #ความปลอดภัย #ผู้บริโภค

ข้าวไม่เน่า จำนำข้าว
ภาพ Fb. @pheuthaiparty

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Weerachai Phutdhawong, ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว Rice Science Center

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button