ความแตกต่าง ‘เอลนีโญ’ กับ ‘ลานีญา’ ร้อนแล้ง-ฝนถล่ม ส่งผลต่อไทยอย่างไร
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ กับ ‘ลานีญา’ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร ใช่สาเหตุของสภาพอากาศร้อนระอุขณะนี้หรือไม่?
จากข่าวคราวภัยธรรมชาติที่ถูกนำเสนออยู่บนจอโทรทัศน์และตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ รวมถึงสภาพอากาศร้อนเข้าขั้นวิกฤต ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน แต่ในขณะเดียวกันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็เป็นผลสือเนื่องมาจากปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’ ที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราอยู่ในขณะนี้ แต่จะส่งผลอย่างไร และทำไมถึงสร้างผลกระทบได้มหาศาลเพียงนี้ ร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’
เอลนีโญ (El Niño) หรือที่แปลว่า เด็กชาย ในภาษาสเปน เป็นปรากฏการณ์ที่ “ลมสินค้า” (trade winds) กำลังอ่อนพัดเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำอุ่นจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรไหล หรือทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปย้อนกลับไปทางทวีปอมริกาใต้ ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส สภาพอากาศแปรปรวน ในบริเวณอเมริกาใต้ตอนเหนือ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีฝนน้อย อากาศร้อน แห้งแล้ง หรือเกิดภัยแล้งในฤดูฝน ในขณะที่บริเวณอเมริกาใต้ตอนใต้ จะมีฝนตกชุก และเกิดน้ำท่วม
สำหรับปรากฏการณ์นี้ โดนเฉลี่ยแล้วจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 2-7 ปี และจะดำเนินอยู่ราว ๆ 9 – 12 เดือน แต่ในระหว่างนี้ก็อาจเกิดปรากฎการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศต่าง ๆ ขึ้นร่วมด้วยได้เช่นกัน อาทิ พายุไซโคลนเขตร้อน
‘ลานีญา’
ลานีญา (La Niña) ที่แปลว่า เด็กหญิง ในภาษาสเปน เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นและส่งผลตรงข้ามกับเอลนีโญ เพราะเกิดขึ้นจากการที่กระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปชิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปชฟิก แต่จะต่างที่กระแสลมจะรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น สภาพอากาศบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเกิดการผันผวน มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ฝนตกชุก น้ำท่วม มีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณอเมริกาใต้ตอนใต้ มีฝนน้อย อากาศร้อน แห้งแล้ง
ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในทุก ๆ 2-3 ปี และจะคงอยู่ยาวนานประมาณ 9 – 12 เดือน หรืออาจเกิดขึ้นนานถึง 2 ปี
ความแตกต่างของผลกระทบจาก ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ต่อประเทศไทย
เอลนีโญ และ ลานีญา สองปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความแรงของกระแสลม ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการไหลของกระแสน้ำอุ่น และด้วยเหตุนี้จึงทำให้สภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย เกิดภาวะผันผวน ในบางพื้นที่เกิดภัยแล้ง และอีกพื้นที่เกิดฝนตกชุก
สำหรับผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ด้าน ‘เอลนีโญ’ จะทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อย อากาศร้อน แห้งแล้ง ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม ประชาชนขาดแคลนน้ำ เกิดปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน และในส่วนของ ‘ลานีญา’ ประเทศไทยมีฝนตกชุก น้ำท่วม ดินถล่ม ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
แนวทางการรับมือ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา หรือกรมชลประทาน ควรติดตามสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบ
- เกษตรกรควรปรับเปลี่ยนแผนการเพาะปลูก เลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
- ประชาชนควรเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวน เก็บกักน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น ดูแลรักษาบ้านเรือนให้มั่นคงแข็งแรง
อย่างไรก็ดี ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนระอุอยู่ในขณะนี้เป็นผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลที่ทาง อ.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้พยากรณ์อุณหภูมิของประเทศไทย ปี 2567 จะพบว่า “ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์” เอลนีโญจะจบลงช่วงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงครึ่งปีแรกโลกจะร้อนเดือดไปทุกหนแห่ง หลายประเทศอาจร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 26 เม.ย. คนกรุงเทพฯ เจอครั้งแรก ปี 67 ไร้เงาทั้งแผ่นดิน
- โลกเดือด ‘เอลนีโญ’ ปีนี้ ทำเมืองไทยร้อนสุดเป็นประวัติการณ์