กฟภ. เผยทริค เปิดแอร์หน้าร้อน ไม่ให้ค่าไฟพุ่ง ย้ำ ไม่ควรเปิด-ปิดบ่อย
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจก 6 ทริค หน้าร้อนนี้ควรเปิดแอร์อย่างไร เพื่อไม่ให้ค่าไฟพุ่งสูง ย้ำชัด ควรหลีกเลี่ยงการเปิด-ปิดแอร์บ่อย ๆ หมั่นล้างแอร์สม่ำเสมอ หรือเปิดพัดลมควบคู่เพื่อช่วยระบายความร้อน
ในช่วงเดือนเมษายนเประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตับแตก ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอย่างในปัจจุบัน อุณหภูมิก็ยิ่งร้อนระอุทวีคูณขึ้น หลาย ๆ ครอบครัวจึงพึ่งการเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ แต่จะให้เปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวันก็อาจจะไม่ไหว เพราะยิ่งเปิดบิลค่าไฟก็ยิ่งพุ่ง
ล่าสุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA ได้แนะนำทริคดี ๆ แก่ประชาชน ในการเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อน มอบความเย็นฉ่ำแบบเต็มสูบ แต่ค่าไฟไม่พุ่งกระหน่ำตาม โดยเผยว่าต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาด BTU กับพื้นที่ หรืออาจเปิดแอร์ควบคู่กับการเปิดพัดลม หมั่นล้างแอร์สม่ำเสมอ ปล่อยให้แอร์ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปิด ๆ ปิด ๆ รวมถึงตรวจเช็กประตู-หน้าต่างให้มั่นใจว่าปิดสนิท และตั้งเวลาเปิด-ปิดแอร์ให้อยู่ในจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสม
วิธีเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อน ฉบับคนประหยัด
สำหรับทริคการเปิดแอร์ ไม่ให้ช็อตฟีลกับบิลค่าไฟ สามารถทำได้ง่าย ๆ คือ เลือกขนาดแอร์ให้เหมาะกับห้อง เปิดที่อุณหภูมิ 26-27 องศา อย่าเปิดๆ ปิดๆ แอร์ยิ่งทำงานหนัก และหมั่นล้างแอร์ตามวงรอบ
1. เลือกขนาด BTU แอร์ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแอร์ขนาด 9,000–21,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดเล็กถึงปานกลางอย่างคอนโด แอร์ขนาด 21,000–30,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องโถง ส่วนแอร์ขนาดใหญ่ 30,000–36,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดใหญ่ เช่น โฮมออฟฟิศ ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น
2. เปิดแอร์ 26-27 องศาฯ ควบคู่กับเปิดพัดลม การเปิดพัดลมช่วยอีกทางจะเป็นการระบายความร้อน เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง และทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าไฟลงได้ 10%
3. ล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน หมั่นล้างแผ่นกรองแอร์เป็นประจำทุก 1 เดือน และล้างแอร์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อกำจัดฝุ่นที่เกาะกรังอยู่ภายใน ซึ่งจะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง
4. ปิดแอร์เมื่อไม่ใช้งาน และไม่ควรปิดๆ เปิดๆ แอร์บ่อยๆ การปล่อยให้แอร์ทำงานยาวนานต่อเนื่อง ย่อมดีกว่าการเปิดๆ ปิดๆ แอร์เพราะช่วงการทำงานของแอร์ที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่เราเริ่มเปิดแอร์ และสตาร์ตมอเตอร์ เพราะฉะนั้นยิ่งเปิดแอร์บ่อย ก็ยิ่งกินไฟมากยิ่งขึ้น
5. ตั้งเวลาปิดแอร์ ช่วยเซฟค่าไฟ การตั้งเวลาปิดแอร์เป็นการควบคุมชั่วโมงการใช้แอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่อากาศไม่ได้ร้อนมากจนเกินไป อาจหันไปใช้พัดลมแทน
6. ปิดประตู หน้าต่างในห้องให้สนิท ยิ่งภายในห้องมีช่องให้ลมแอร์เล็ดลอดผ่านไปหรือลมร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แอร์ต้องทำงานหนักเพื่อรักษาอุณหภูมิความเย็นให้คงที่
เพียงปฏิบัติตาม 6 วิธีง่าย ๆ เหล่านี้ ทุกคนก็จะสามารถเพลิดเพลินไปกับความเย็นฉ่ำจากการเปิดแอร์ในหน้าร้อน ในแบบที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟอีกต่อไป
วิธีเช็กขนาด BTU ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง
BTU (British Thermal Unit) เป็นหน่วยวัดความร้อนหน่วยหนึ่ง นิยมใช้กันมากในระบบของเครื่องปรับอากาศ สามารถเทียบได้กับหน่วยจูลหรือแคลอรี่ในระบบสากล โดยความร้อน 1 BTU คือปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นยิ่งแอร์ที่มีจำนวน BTU สูง ก็ยิ่งมีความสามารถในการผลิตความเย็นได้มาก และมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้แอร์ใช้พลังงานในการทำความเย็นมากขึ้นตามไปด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นก็จะส่งผลต่อตัวเลขค่าไฟรายเดือนที่จะตามมา การเลือกแอร์ให้เหมาะสมกับห้อง หรือควรเลือกขนาดแอร์ที่มี BTU เหมาะสมกับห้อง จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก
สำหรับสูตรคำนวณค่า BTU คือ ค่า BTU = พื้นที่ของห้อง (ขนาดกว้าง x ยาว) x ระดับความแตกต่าง ซึ่งระดับความแตกต่าง คือ ระดับความร้อนช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยห้องที่ใช้ตอนกลางวัน มีระดับความต่างประมาณ 800 และห้องที่ใช้เฉพาะเวลากลางคืน มีระดับความต่างประมาณ 700
ขนาด BTU ของแอร์
- 9,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 10-12 ตารางเมตร
- 12,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 13-15 ตารางเมตร
- 15,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 16-18 ตารางเมตร
- 18,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 19-21 ตารางเมตร
- 24,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 22-25 ตารางเมตร
- 30,000 BTU : เหมาะสำหรับห้องขนาด 26-30 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม ขนาด BTU ที่เหมาะสมกับห้อง ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของห้อง อาทิ ห้องที่รับแสงแดดโดยตรง ควรเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU ใหญ่กว่าปกติ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งาน เพราะห้องที่มีผู้ใช้งานหลายคน ควรเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU ใหญ่กว่าปกติ และประเภทของผนัง ซึ่งห้องที่มีผนังเป็นกระจก ควรเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU ใหญ่กว่าปกติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แชร์ทริคเปิด “แอร์” พร้อม “พัดลม” ยังไงให้ “ประหยัด-เย็นฉ่ำ” บอกเลยได้ผลชัวร์
- อ.เจษฎา ตอบชัด วางน้ำแข็งในบ้าน ช่วยคลายร้อน-ลดค่าไฟ ได้ผลจริงไหม
- อย่าลืมใช้สิทธิ ลงทะเบียนส่วนลดค่าน้ำ – ค่าไฟ ฟรี 1 ครัวเรือนต่อ 1 สิทธิ