การเงินเศรษฐกิจ

ธปท.เพิกถอนใบอนุญาต “ทรีเพย์” – “เพย์เพด” เข้าข่ายไม่ทำตามเกณฑ์

ประกาศจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งเพิกถอนการอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจ 2 ราย คือ บริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เพย์เพด จำกัด พบการปฏิบัติเข้าข่ายไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน) ขอแจ้งการเพิกถอนการอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจ 2 ราย คือ บริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เพย์เพด จำกัด ด้วยปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้

Advertisements

1. บริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้หยุดให้บริการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายเป็นกรณีที่บริษัทหยุดประกอบธุรกิจหรือ ไม่ดำเนินธุรกิจตามปกติเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนด

2. บริษัท เพย์เพด จำกัด ได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ให้ความร่วมมือ และร่วมกระทำการกับบุคคลอื่นในการกระทำความผิดอาญาฐานประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบริษัท เพย์เพด จำกัด มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือฝ่าฝืนละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือระบบการชำระเงินโดยรวมของประเทศอย่างร้ายแรง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 และ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน มีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับของบริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เพย์เพด จำกัด ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ได้จากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลขโทรศัพท์ 1213 หรือระบบการตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตหรือใบขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT License Check) ตามช่องทาง https://app.bot.or.th/BotLicenseCheck

อนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหาก ธปท. ตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใด มีการปฏิบัติเข้าข่ายไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด หรือมีพฤติการณ์ในลักษณะที่ไปเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย ธปท. จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

Advertisements

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button