คำทำนาย นางสงกรานต์ 2567 ‘มโหธรเทวี’ ขี่นกยูง
เปิดคำทำนาย นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 ‘มโหธรเทวี’ ขี่นกยูง นางสงกรานต์องค์ที่ 7 ประจำวันเสาร์ คาดปีนี้น้ำน้อย ฝนแล้งหนัก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ได้แก่ นางมโหธรเทวี ทรงขี่นกยูง พร้อมจัดทำภาพวาด คำทำนาย ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ความว่า
“ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2567 ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช 1386 ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน
วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เวลา 22 นาฬิกา 24 นาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “มโหธรเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 02 นาฬิกา 15 นาที 00 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1386 ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย, วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี, วันจันทร์ เป็น อุบาทว์, วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ
ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 5 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย”
นางสงกรานต์ประจำปี 2567 นามว่า “นางสงกรานต์มโหธรเทวี” ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย คือ พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง) ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ สอดคล้องกับวันสงกรานต์ประจำปีนี้ที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2567 โดย ความหมายของคำทำนายในปี เป็นดังนี้
1. วันอังคารเป็นอธิบดีฝน ส่งผลให้บันดาลฝนตก 300 ห่า โดยจะตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า, ตกในมหาสมุทร 60 ห่า, ตกในมหาสมุทร 60 ห่า และตกในเขาจักรวาล 120 ห่า
2. นาคราชให้น้ำจำนวน 7 ตัว ฝนตกน้อย
3. เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ บรรดาข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ ซึ่งหมายถึง มีด้วงและแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน
4. เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกธาตุลม จะทำให้มีน้ำน้อย
ทำไมมโหธรเทวีต้องขี่นกยูง
นกยูงเป็นนกที่ขึ้นชื่อเรื่องความงามสง่า ลำตัวปกคลุมด้วยขนสีสันสดใส โดยเฉพาะขนหางที่ยาวพลิ้วไสวเมื่อรำแพน ยามนกยูงกางปีกจะเผยให้เห็นลวดลายประดับประดา เปรียบเสมือนดั่งดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า ความงามอันล้ำเลิศนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับนางมโหธรเทวี เทพีผู้มีรูปโฉมงดงามดั่งดวงจันทร์
ในหลายวัฒนธรรม นกยูงถูกยกย่องว่าเป็นสัตว์มงคล เชื่อกันว่านำพาโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้พบเห็น การปรากฏตัวของนกยูงในวันสงกรานต์จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคล เป็นการอวยพรให้ผู้คนในปีใหม่ไทยมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต
ในปกรณัมศาสนาฮินดู นกยูงเป็นพาหนะของพระกรรติเกยะ โอรสองค์โตของพระศิวะและเป็นพี่ชายของพระพิฆเนศ ขนหางนกยูงใช้เป็นเครื่องประดับ ด้วยความงดงามของนงยูง แม้แต่พระกฤษณะเองยังสวมมงกุฎประดับขนนกยูง ซึ่งสื่อถึงพลังอำนาจและความเป็นอมตะ
ปัจจุบันนกยูงกลายเป็นนกประจำชาติอินเดีย ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1963 และมีสถานะเป็นสัตว์คุ้มครองตามรัฐบัญญัติสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ปี ค.ศ. 1972
ประวัติ ‘นางสงกรานต์’ ทั้ง 7 วัน
ตำนานของนาสงกรานต์ ทางกรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
2. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
เช่นนั้นแล้วจึงเป็นเหตุที่นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 เป็นนางสงกรานต์มโหทรเทวี ซึ่งเป็นผู้แห่ประจำวันสงกรานต์ในปีที่ตรงกับวันเสาร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง