โรคตุ่มน้ำพอง จากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน พบได้ยาก แต่รักษาได้
รู้เท่าทันโรคร้าย ‘โรคตุ่มน้ำพอง’ หรือ โรคเพมฟิกอยด์ อาการทางผิวหนังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โรคตัวการพรากชีวิต ‘เมฆ วินัย ไกรบุตร’
นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิง สำหรับการเสียชีวิตของ เมฆ วินัย ไกรบุตร นักแสดงเลื่องชื่อแห่งวงการจอแก้วและจอเงิน ซึ่งเมื่อค่ำคืนวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 23.49 น. ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บปวดทางร่างกายจาก ‘โรคตุ่มน้ำพอง’ ก็ได้พรากชีวิตดาราดังไป หลังพยายามรักษาทุกวิถีทางมานานกว่า 5 ปี
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ ‘เมฆ วินัย’ ได้ต่อสู้กับอาการป่วย ชื่อของโรคตุ่มน้ำพองก็ได้กลายเป็นที่สนใจมากขึ้น หลาย ๆ คนกังวลถึงอาการเจ็บป่วยจากโรคนี้ เพราะแม้ว่าจะเป็นโรคที่พบได้ยากในประเทศไทย แต่ภาพความทุกข์ทรมานของนักแสดงท่านนี้ก็ได้ทำให้แฟน ๆ ทราบมาตลอดว่าเป็นโรคที่ใกล้ตัวและอาจอันตรายกว่าที่คิด วันนี้ Thaiger จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ โรคตุ่มน้ำพอง พร้อมเผยวิธีรักษาที่จะทุกคนรับมือกับโรคร้ายนี้ได้ดียิ่งขึ้น
โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร?
โรคตุ่มน้ำพอง หรือ เพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังหลุดลอกและเกิดตุ่มน้ำพองขนาดใหญ่บนบริเวณผิวหนัง โรคนี้พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ แต่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยด้วยเช่นกัน
อาการของโรคตุ่มน้ำพอง
โรคนี้จะแสดงอาการเด่นชัดบนผิวหนัง โดนจะมีตุ่มพองเกิดขึ้นที่ผิวหนัง หรืออาจมีตุ่มพองที่บริเวณเยื่อบุต่าง ๆ ซึ่งตุ่มน้ำก็อาจมีขนาดแตกต่างกันไป และเมื่อตุ่มน้ำแตกก็ทำให้เกิดแผลถลอกหรือเป็นสะเก็ดตามร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก
อาการอาจแตกต่างออกไปสำหรับผู้ป่วยในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งจะเกิดจากความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้าในผิวหนังชั้นตื้น แผลที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับการถูกน้ำร้อนลวก และส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย รวมถึงอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่น อาทิ ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ
หลังจากอาการตุ่มน้ำหายแล้วก็จะกลายเป็นแผลถลอก ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หรือคัน เมื่อแผลหายก็อาจทิ้งรอยดำไว้บนร่างกาย แต่จะไม่เป็นแผลเป็น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย อาการตุ่มน้ำมักจะเกิดขึ้นตามบริเวณศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง รวมถึงบริเวณผิวหนังส่วนอื่น ๆ ที่มักเสียดสีกัน รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- มีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตามร่างกาย สามารถแตกได้ง่ายและอาจกลายเป็นแผลถลอกได้
- มีอาการปวด แสบ และคันบริเวณที่เป็นแผล
- บางรายจะกลืนอาหารลำบาก หากมีแผลที่เยื่อบุในปากด้วย และก็อาจร้ายแรงถึงขนาดทำลายกล่องเสียงจนเป็นเหตุให้เสียงแหบ
- หากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง แผลจะเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น และมีโอกาสกลายเป็นรอยแผลเป็น
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีไข้และอาการทางระบบอื่น และอาจทำให้เสียชีวิตได้
การดูแลร่างกาย ฉบับผู้ป่วยโรคตุ่มน้ำพอง
หากป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพอง ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดจำเป็นจะต้องดูแลด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่แสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ดังนั้นจึงจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การพบแพทย์ การรับประทานยา และการรักษาแผล ซึ่งวิธีการดูแลที่แพทย์แนะนำมีดังนี้
1. ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรหยุดยาหรือปรับลดยาด้วยตนเอง
2. หมั่นทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผล ซึ่งควรจะใช้น้ำเกลือทำความสะอาด
3. หลีกเลี่ยงการแกะเกาผื่นแผล ไม่ควรใช้ยาพ่น เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ
4. ผู้ป่วยจะมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
5. ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัด และกักเก็บความร้อน เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ จนเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก ถูกหลักอนามัย เน้นอาหารรสไม่จัด
7. การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
8. ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์
9. ผู้ป่วยที่มีแผลในปากควรงดอาหารรสจัด และงดรับประทานอาหารแข็ง เพราะจะทำให้เยื่อบุในช่องปากหลุดลอก
10. หลีกเลี่ยงแสงแดด
11. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่ความเครียด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
วิธีรักษาโรคตุ่มน้ำพอง เป็นแล้ว หายได้
ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ทำได้หลายวิธี แต่ก็ต้องพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ซึ่งวิธีการรักษาก็จะมีทั้งการรับยากดภูมิคุ้มกัน ร่วมกับใช้ยาแก้อักเสบเพื่อควบคุมโรค หรือการรับยาที่มีผลให้เซลล์เปลี่ยนการทำงานได้ แต่การรักษานั้นจะไม่หายในทันทีโดยระยะเวลาของการรักษาอาจกินเวลาหลักปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรค
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการมากควรได้รับรักษาในโรงพยาบาล เพื่อได้รับการทำแผลอย่างถูกวิธี และเฝ้าระวังแผลติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
สุดท้ายนี้ แม้โรคตุ่มน้ำพองจะพบได้ยากในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นการหมั่นตรวจเช็กอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง และก็ไม่ควรกังวลว่าหากป่วยขึ้นมาจะต้องเสียชีวิตแน่นอน เพราะอาการนี้สามารถรักษาให้หายได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อาลัย “เมฆ วินัย ไกรบุตร” เสียชีวิตกลางดึก ปิดตำนานพระเอกร้อยล้าน
- เมฆ วินัย ไกรบุตร เป็นลม ต้องเข้า รพ. พบขาดธาตุเหล็ก ไม่เกี่ยวโรคตุ่มน้ำพอง
- เพิ่งรู้สาเหตุ เมฆ วินัย เป็นลมไม่หยุด เพราะเลือดออกทุกวัน 3 เดือน เกือบไม่รอด