ข่าว

อย.เตือน ‘เยลลี่องุ่นเคียวโฮ’ ระบาดทั่ว ของปลอมไม่มีอย. เสี่ยงสารอันตราย

อย.เตือน “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ระบาดเกลื่อนออนไลน์-หน้าโรงเรียน รีวิวเพียบ ของปลอมไม่มีอย. ไม่มีฉลากภาษาไทย หวั่นคนกินได้รับสารอันตราย และสิ่งปนเปื้อน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานจาก เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับขนมเยลลี่องุ่นที่มีจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้เริ่มมีการทำขนมเลียนแบบออกมาวางขายเกลื่อนทั้งในออนไลน์ และตามแผงต่างๆ ใกล้โรงเรียน-ชุมชน โดยไม่มีฉลากภาษาไทย และไม่มีอย. หวั่นคนกินได้รับสารอันตรายเจือป่น

Advertisements

เยลลี่องุ่นเคียวโฮปลอม เป็นเยลลี่ที่บรรจุอยู่ในถุงลักษณะคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งมัดเป็นลูกกลมๆ มีวิธีรับประทาน คือ ใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลมจิ้มถุงหุ้มให้แตกออก แล้วรับประทานตัวเยลลี่ด้านใน ซึ่งก็มีหลากหลายสีสัน หลากหลายรสชาติ วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปทั้งในร้านค้าออนไลน์ และรวมไปถึงแผงขายของตามหน้าโรงเรียนหรือชุมชน

เยลลี่องุ่นเคียวโฮ

รองเลขาธิการฯ เผยว่า เยลลี่องุ่นเคียวโฮปลอม ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ไม่มีมาตรฐานการผลิต ไม่มีเลขที่จดแจ้งอย. ไม่มีแม้กระทั่งฉลากที่เป็นภาษาไทย แนะนำว่าไม่ควรซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด โดยให้เหตุผลหลัก ดังนี้

  1. อาจเป็นการลักลอบนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร เสี่ยงได้รับสารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด
  2. บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อเยลลี่ ผู้ผลิตอาจใช้ถุงมือยาง หรือภาชนะที่ไม่ได้มีไว้สำหรับบรรจุอาหาร ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคลือบ หรือวัสดุที่อาจหลุดลอกออกมาปนเปื้อนสู่อาหารและรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้
  3. อาจมีเศษของบรรจุภัณฑ์ที่หลุดติดอยู่กับเนื้อเยลลี่หลุดเข้าไปในคอทำให้ติดคอได้ หรือขนาดของเยลลี่ที่ไม่ได้มาตรฐานก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดคอได้เช่นกัน

ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) เพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เยลลี่องุ่นเคียวโฮ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยที่อาจจะเกิดกับเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ รองเลขาธิการฯ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า กรณีผลิตเพื่อขายต่อผู้ซื้อโดยตรง ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต และคำแนะนำในการบริโภคแก่ผู้ซื้อได้จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องมีฉลาก

Advertisements

แต่หากมีการบรรจุอาหารในถุงมือยาง หรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต-ผู้นำเข้า รวมถึงผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มีผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายตามสถานที่ต่างๆ และไม่มีฉลาก จะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

เยลลี่องุ่นเคียวโฮ ปลอม

ขนมเยลลี่ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า หรือมีใบอนุญาตในการผลิต จะต้องมีฉลากภาษาไทย มีการแสดงเลขอย. ส่วนประกอบหรือส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันเดือนปีที่หมดอายุ น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ ข้อมูลวัตถุแต่งกลิ่นรส และวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น สี และวัตถุกันเสีย ระบุอยู่บนห่อบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน

กรณีเยลลี่ที่ผลิตเพื่อขายต่อผู้ซื้อโดยตรง ควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด มีการบรรจุในภาชนะบรรจุอาหารเท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ควรให้เด็กบริโภคขนมเยลลี่เป็นประจำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะอ้วน หรือฟันผุได้ ควรรับประทานอาหารหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button