เศรษฐกิจ

เปิดที่มา ตระกูล “ล่ำซำ” จากธุรกิจค้าไม้ สู่ อาณาจักรธุรกิจประกันภัย และธนาคารกสิกรไทย

ประวัติ ตระกูลล่ำซำ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจประกันภัย และธนาคารกสิกรไทย ย้อนเส้นทางบุกเบิกตั้งแต่ต้นตระกูล รุ่นที่ 1 จวบจนปัจจุบันใน รุ่นที่ 5

หากพูดถึงตระกูลล่ำซำ คงไม่มีใครในประเทศไทย ไม่รู้จักชื่อนี้ โดยเฉพาะชื่อของ นวลพรรณ ล่ำซำ ว่าที่นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนของวงการฟุตบอลไทย ด้วยการเป็นประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ จากไทยลีก และเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ทั้งยังเป็นกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่หลาย ๆ คนคงเคยเห็นหน้าคร่าตาเธอตามสื่อต่าง ๆ เป็นอย่างดี ด้วยสโลแกน “ยิ้มได้ เมื่อภัยมา”

วันนี้ Thaiger จะขอพาทุกคนมาย้อนดูเส้นทางของตระกูลล่ำซำ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจวบจนถึงรุ่นปัจจุบัน ว่ากว่าจะเป็นตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจและธนาคารอย่างทุกวันนี้ ต้นกำเนิดของตระกูลเริ่มต้นจากที่ใด

ล่ำซำ รุ่นที่ 1 ปฐมบทแห่งความรุ่งโรจน์
ภาพจาก : เจาะเวลาหาอดีต

ล่ำซำ รุ่นที่ 1 ปฐมบทแห่งความรุ่งโรจน์

นายอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน บรรพบุรุษของตระกูลล่ำซำ ได้เดินทางจากมลฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุ 13 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

คำว่า ล่ำซำ เป็นนามแฝงที่ อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน คิดไว้สมัยที่อยู่จีน ที่ตนรอดจากกลุ่มโจรมาได้ จึงนำชื่อนี้ที่โจรเรียกมาเป็นสัญลักษณ์นำโชค โดยคำว่า ล่ำ หมายถึง สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเสื้อที่เขาใส่ในตอนที่เจอกลุ่มโจร และซำ อาจหมายถึง เสื้อ หรือ สาม เนื่องจากเขาคือสมาชิกของตระกูลรุ่นที่ 3 และได้ใช้ชื่อไทยว่า นายล่ำซำ เมื่อเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อเข้ามาในไทย จึงได้เปิดร้านขายไม้ซุง ชื่อว่า ห้างล่ำซำ ธุรกิจป่าไม้บริเวณจังหวัดนครสวรรค์กับแพร่ พร้อมทั้งติดต่อค้าขายอย่างเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนชาวจีนแคระ ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เมื่อปี 2446 เพื่อช่วยเหลือชาวจีนผู้ยากไร้ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล ในวันที่ 19 กันยายน 2448

อึ้งเมี่ยวเหงี่ยนแต่งงานกับชื้อฮูหยินมีบุตร 4 คน คือ อึ้งจูหลง ล่ำซำ, อึ้งยุกหลง ล่ำซำ (ผู้เป็นผู้นำตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 2), เผือก ล่ำซำ และเนย ล่ำซำ และสมรสกับหญิงไทยชื่อ เทียน มีบุตร 2 คน

ล่ำซำ รุ่นที่ 2 ความรุ่งเรืองมาเยี่ยมเยือน
ภาพจาก : Preecha Books

ล่ำซำ รุ่นที่ 2 ความรุ่งเรืองมาเยี่ยมเยือน

รุ่นที่ 2 นำโดย อึ้งยุกหลง ลำซ่ำ ได้สืบทอดกิจการของตระกูล และได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ชื่อ บริษัท ก้วงโกหลง จำกัด ทั้งยังขยายกิจการต่าง ๆ อาทิ ขยายขีดความสามารถในการค้าขายไม้ไปยังทวีปยุโรปและเอเชีย เริ่มกิจการโรงสีข้าว รับซื้อข้าวและสินค้าเกษตรกรรรม รับสัมปทาน รถเมล์นครธน ที่เป็นสัมปทานเดินรถเมล์ทางฝั่งธนบุรี

ในปี 2475 ได้ลงทุนทำธุรกิจเพิ่มเติม ได้แก่ กวางอันหลงประกันภัย (ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นล่ำซำประกันภัย และภัทรประกันภัย) และธนาคารก้วงโกหลง โดยธุรกิจธนาคารถูกปิดตัวลงโดยคณะราษฎร นอกจากนั้น ยังมีบริษัทในสาขาต่างประเทศ อาทิ บริษัทกวางกิมล้ง (ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้), บริษัทกวงซิล้ง (กวางตุ้ง), บริษัทวังล้ง (ปัตตาเวีย), บริษัทกวงกิมล้ง (ลอนดอน) และมีธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ บริษัทล็อกซเล่ย และ ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร) ที่ได้ร่วมทุนกับพรรคพวกสร้างขึ้นมา

นอกจากนั้น นายอึ้งยุกหลง ยังมีบทบาทและอิทธิพลเป็นอย่างมากใน สมาคมพาณิชย์จีน ซึ่งเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลอย่างมากกับชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน และเคยรับตำแหน่งประธานหอการค้าจีน สมัยที่ 9

อึ้งยุกหลงแต่งงานกับ ทองอยู่ หวั่งหลี ซึ่งเป็นตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่ 2 มีบุตรและธิดา รวม 7 คน อันได้แก่ โชติ ล่ำซำ, จุลินทร์ ล่ำซำ, เกษม ล่ำซำ ,จวง ล่ำซำ ,ทองพูน ล่ำซำ, เล็ก ล่ำซำ และพิศศรี ล่ำซำ อึ้งยุกหลงส่งบุตรชาย 3 คน คือ โชติ จุลินทร์ และเกษม ไปศึกษาที่ต่างประเทศ อึ้งยุกหลงถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2482 ด้วยน้ำมือของพวกอั้งยี่

นางเนย หลีอาภรณ์ บุตรสาวของนายอึ้งเมี่ยวเหงียน ร่วมกับนางหุ่น ลูกครึ่งจีน-ไทย ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน ตั้งร้านตังเสง รับซื้อแกลบ เป็นหนึ่งในผู้ค้าแกลบรายใหญ่ของประเทศ และมีลูกค้ารายใหญ่สำคัญก็คือ บริษัทไฟฟ้าสยามคอร์เปอเรชั่น

ล่ำซำ รุ่นที่ 3 แผ่ขยายกิ่งก้านธุรกิจ
ภาพจาก : The 101 World

ล่ำซำ รุ่นที่ 3 แผ่ขยายกิ่งก้านธุรกิจ

นายโชติ นายจุลินทร์ และ นายเกษม บุตรชายแห่งตระกูลล่ำซำ ได้ร่วมกันสืบต่อธุรกิจต่อจากบิดา พร้อมทั้งขยายงานของตระกูลให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ทายาทตระกูลล่ำซำ รุ่นที่ 3 และมิตรสหายชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมกันก่อตั้ง ธนาคารกสิกรไทย ขึ้นมาในวันที่ 8 มิถุนายน 2488 สาขาแรกที่สำนักงานถนนเสือป่า ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ต่อมา โชติ ล่ำซำ ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหัน

จุลินทร์ ได้ร่วมมือกับบุคคลในคณะราษฎร ตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด บริษัทเกี่ยวกับคลังสินค้าที่รับจำนำสินค้าทั่วไป และทำหน้าที่กัมปะโดให้แก่ธนาคารกสิกรไทย โดยให้เกษมเข้ามาช่วย

เกษม ล่ำซำ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางระบบธนาคารกสิกรไทย แบบธนาคารประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้งสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมคนแรก แต่ต่อมาปี 2505 เกษม ล่ำซำ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ไต้หวัน เสียชีวิต ทำให้บัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของโชติ เข้ารับหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยต่อ

ล่ำซำ รุ่นที่ 4 สร้างสรรค์ความเข้มแข็ง
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

ล่ำซำ รุ่นที่ 4 สร้างสรรค์ความเข้มแข็ง

จุลินทร์ ล่ำซำ ทายาทตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 3 ได้ร่วมมือกับนักธุรกิจ และบรรดาผู้ใหญ่วงราชการ จัดตั้งบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เมื่อปี 2494 โดยให้ บัญชา ล่ำซำ หลานชายรุ่นที่ 4 เข้ามาช่วยบริหารงาน ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ต่อมาในปี 2505 บัญชาลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เพื่อไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย รวมถึงควบแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า

หลังจากที่ บัญชา ล่ำซำ เข้ามาบริหารธนาคารกสิกรไทย ได้ขยายสาขาในประเทศไทยจาก 36 สาขา เป็น 78 สาขา ภายในปี 2513 รวมถึงขยายสาขาในต่างประเทศด้วย ต่อมา 2518 ได้นำธนาคารกสิกรไทยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2519 ได้มอบหมายให้ บรรยงค์ ล่ำซำ น้องชายของบัญชา เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยแทน และในปี 2522 ได้นำบริษัทกวางอันหลง เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทภัทรประกันภัย และบริษัทภัทรธนกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์

ภายหลัง จุลินทร์ ได้ให้ลูกชาย โพธิพงษ์ ล่ำซำ สืบทอดบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต และได้ให้ ธงชัย ล่ำซำ บุตรชาย และ นางพรรณี ล่ำซำ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท และ ประธานกรรมการบริหาร ตามลำดับ

ล่ำซำ รุ่นที่ 5 ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
ภาพจาก : Madam Pang – มาดามแป้ง – นวลพรรณ ล่ำซำ

ล่ำซำ รุ่นที่ 5 ก้าวหน้าอย่างมั่นคง

บันฑูร ล่ำซำ บุตรชายของบัญชา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ต่อจาก บรรยงค์ ล่ำซำ ในปี 2534 ซึ่งได้นำกลยุทธ์การบริหารธนาคารแบบชาติตะวันตก เข้ามายกระดับองค์กรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และได้ขยายสาขาทั่วประเทศไทยกว่า 512 สาขา ในช่วงปี 2537 – 2540 ทำให้ธนาคารกสิกรไทย สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไปได้ด้วยดี

ในปี 2547 นวลพรรณ ล่ำซำ ลูกสาวคนโตของ โพธิพงษ์ ล่ำซำ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้าน สาระ ล่ำซำ ลูกชายคนเล็กของ โพธิพงษ์ ล่ำซำ ได้ไต่เต้าจนกลายเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต (มหาชน) โดยที่ภัทรประกันภัย มีกฤตยา บุตรสาวของ ยุติ ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button