‘เรืองไกร’ ยื่น กกต. ยุบพรรคก้าวไกล ฝากถึง ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’ รายต่อไป
เรืองไกร ยื่น กกต. ร้องยุบพรรคก้าวไกล เชื่อไม่น่ารอด ฝากถึง อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา เป็นรายต่อไป หลังเคยหาเสียงประเด็นแก้ ม.112
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยื่นคำร้องเพื่อขอให้กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมือง ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองและขอให้ยุติการกระทำตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
โดยนาย เรืองไกร กล่าวว่า ที่มาในวันนี้เนื่องจากเมื่อวาน (31 ม.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยมีผู้ถูกร้อง 2 ราย ประกอบด้วยนายพิธา และพรรคก้าวไกล ซึ่งผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 49 เห็นว่ามีบุคคลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยศาลระบุชัดเจนว่าผู้ถูกร้องทั้งสอง ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งได้อย่างเดียวคือให้เลิกการกระทำ และวินิจฉัยว่าให้เลิกการกระทำอย่างไร โดยตนเข้าใจว่าห้ามยกเลิกมาตรา 112 และอีกข้อหนึ่งที่เข้าใจคือ การจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายอื่นๆเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่จะตรากฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก สามารถทำได้แต่ต้องชอบด้วย
ดังนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คำว่าล้มล้างการปกครองฯอยู่ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งในกรณีนี้มีพรรคเดียวที่เคยโดนคือพรรคไทยรักษาชาติ ดังนั้นแล้วตนจึงยื่นเรื่องขอให้กกต.นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาล ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึงกกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ ส่วนองค์กรที่ 2 คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ถูกร้องเป็นสส. 44 คน ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้เคยยื่นเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2564 “ซึ่งนี่เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือนำความเห็นส่วนตัวมาร้องแต่อย่างใด” นายเรืองไกร กล่าว
เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองๆอื่นๆที่เคยใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งนี้รวมถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน และน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112
เมื่อถามอีกว่า พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่น่าจะรอด เพราะศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปีด้วย