ข่าวข่าวการเมือง

เปิดชะตากรรม สส.ก้าวไกล ถ้าถูกยุบพรรค ไปไหนต่อ แพแตกครั้งใหญ่

ลุ้นบ่ายนี้ พิธา พรรคก้าวไกล รอฟังศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย คดีล้มล้างการปกครอง เปิดชะตากรรมถ้าผลไม่เป็นคุณ หากถูกสั่งยุบพรรค สส. จะไปอยู่ไหน เจอคดีอะไรหรือไม่ ตลอด 22 ปี โดนยุบไปแล้ว 110 พรรคการเมือง

กรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดวินิจฉัยคำร้องที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่ง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย บ่ายวันนี้ (31 ม.ค.67)

Advertisements

ลุ้นแนวทาง คำวินิจฉัย คดีพรรคก้าวไกล – แก้ 112

เนื้อหาในตัวคำร้องนั้น ได้ระบุถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่นำไปสู่การยื่นคำร้อง ว่า เกิดจาก 2 เหตุการณ์ ได้แก่

  1. กรณีกลุ่ม สส.พรรคก้าวไกลในสภาฯ สมัยที่แล้ว จำนวน 44 คน โดยมีพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นแกนนำ ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแก้ไข 112 ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตอนนั้น ไม่มีการบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ สมัยที่แล้ว
  2. กรณี พรรคก้าวไกล นำเรื่องการจะแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ คำร้องดังกล่าวจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

และหากเห็นว่าเข้าข่าย ก็ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดการเคลื่อนไหว หยุดการแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยไม่มีเรื่องการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้เองสอดคล้องกับที่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. วิเคราะห์ว่า คำวินิจฉัยของศาลน่าจะออกได้ 3 แนวทางคือ

  1. สั่งยกคำร้อง
  2. สั่งตีกรอบเนื้อหาในการแก้ไขมาตรา 112
  3. สั่งให้ยกเลิกการกระทำ
ชัยธวัช หัวหน้าพรรคก้าวไกล คดีล้มล้างการปกครอง
แฟ้มภาพ

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง ก็เท่ากับ พิธา-ก้าวไกลชนะคดี ได้เฮรอบ 2 ติด ๆ กัน หลังเพิ่งรอดคดีหุ้นสื่อไอทีวีมาไม่นานนี้

แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทาง “ไม่เป็นคุณ” กับพรรคก้าวไกล ที่แม้ต่อให้ศาล รธน. ไม่ได้มีคำสั่งห้ามพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 แต่ถ้ามีข้อความปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำนองว่า พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลในเรื่องการแก้ไข 112 เข้าข่ายเป็นการกลั่นเซาะ บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ก็อาจทำให้มีบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกลรับลูกขยายผล ด้วยการไปยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ .ยุบพรรคก้าวไกล” และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ที่บัญญัติว่า

Advertisements

“หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”

ส่วนชะตากรรมของสส. ในพรรค หากมีการระบุถึงพฤติการณ์ของ สส.ก้าวไกล ว่ากลั่นเซาะ บ่อนทำลาย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ก็อาจทำให้บางคนไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดพิธาและ สส.พรรคก้าวไกล ว่า กระทำการขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งประด็นสืบเนื่องนี้ ต้องรอฟังการอ่านคำวินิจฉัย เกิดขึ้นเสียก่อน

ถ้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ สส. ที่เหลือต้องหาสังกัดพรรคใหม่

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (10) ระบุไว้ว่า ถ้ายุบพรรคการเมืองที่ สส. เป็นสมาชิก สส. ต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันสั่งยุบพรรค ไม่เช่นนั้นถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพ

หมายความว่า สส. ก้าวไกลกว่า 100 คนจะประสบสถานการณ์แพแตก หลายพรรคน่าจะอยากดึงตัวเข้าพรรคเพื่อเพิ่มจำนวนเสียงให้กับตัวเอง เราน่าจะเห็นเกมแย่งชิงครั้งใหญ่ระหว่างซีกรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพราะมีผลต่อการโหวตผ่านร่างกฎหมาย และอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พิธา สภา
ภาพ IG @pita.ig

22 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบไปแล้วกี่พรรค ?

อ้างอิงข้อมูลจาก ไทยพับลิก้า ระบุ 22 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 110 พรรค เท่ากับทุก ๆ 1 ปี จะมี 5 พรรคการเมืองถูกยุบพรรค โดย 9 ปีแรกของการใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับดังกล่าว มีพรรคที่ถูกยุบ รวม 92 พรรค เกือบทั้งหมดเป็นสาเหตุในด้านธุรการหรือทางเทคนิคที่พรรคไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่วางเอาไว้

อยางไรก็ตาม ปี 2550 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ มีคดีใหญ่ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย โดยมีเหตุแห่งการยุบพรรค คือ กระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 66 (1) และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 60 (3) กรณีว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อหนีเกณฑ์ว่าจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว

พร้อมสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ที่กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 (2) และมาตรา 66 (3) กรณีรับจ้างลงสมัครับเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน มีหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์สถานการณ์จากปมพิธารอดคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี น่าจะส่งผลพวงในทางที่ดีเช่นกันกับคดีล่าสุดนี้ เพราะหลายคนเชื่อว่า ต่อให้ยุบพรรคก.ก. ก็จะเกิดพรรคก.ก. เวอร์ชั่น 2 และ 3 ออกมาอยู่ดี หลักฐานจากตอนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ จนเกิดมีก้าวไกลขึ้นมาซึ่งข้อมูลก็ชี้ชัดว่าคะแนนความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าอย่างไร การอ่านคำววินิจฉัยในช่วงบ่ายวันนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าจะตัดสินยังไง ก็จะเกิดผลตามมาในเรื่อง มาตรา 112 ต่อสังคมไทยอยู่ดี.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button