กางทุกแง่มุม “แลนด์บริดจ์” ว่าที่ผลงานชิ้นโบแดงของเพื่อไทย คืออะไร ผลักดันรายได้ให้คนในประเทศอย่างไร คุ้มค่าแค่ไหนกับการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ในปี 2030
หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดตัว แลนด์บริดจ์ บิ๊กโปรเจ็กต์ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายพัฒนาความมั่นคงให้ประเทศ สุดท้ายกลายเป็นกระแสตีกลับจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประชาชนจำนวนมากว่า โครงการนี้ไกลเกินเอื้อม ดังนั้นขอพาไปเจาะลึกทุกข้อดี ข้อเสียว่าแผนนี้มีความสำคัญอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ?
รู้จัก โครงการแลนด์บริดจ์ พื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้แห่งใหม่
แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ คือ อภิมหาโปรเจ็กต์ในคณะรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มุ่งพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ครอบคลุมระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนองด้วยสะพานและอุโมงค์ใต้ทะเล เป็นนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกที่ต้องการเนรมิตเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าแห่งใหม่ เพิ่มเติมจากช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางหลัก
เส้นทางแลนด์บริดจ์มีความยาวรวมประมาณ 100 กิโลเมตร ประกอบด้วย สะพานข้ามทะเลยาวประมาณ 70 กิโลเมตร อุโมงค์ใต้ทะเลยาวประมาณ 30 กิโลเมตร และท่าเรือน้ำลึกบริเวณปลายสะพานทั้งสองฝั่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งลงได้ราว ๆ ร้อยละ 15 เนื่องจากระยะการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกจะลดลงอย่างน้อยประมาณ 5 วัน
ใครได้รับผลประโยชน์ในโครงการ “แลนด์บริดจ์”
ส่วนผู้ได้ประโยชน์จาก แลนด์บริดจ์ นายกฯ เศรษฐา เคยให้ข้อมูลไว้ว่า นี่อาจเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และอาจสร้างงานใหม่ให้กับคนไทยกว่า 1 ล้านคน เพราะเมื่อโปรเจกต์แล้วเสร็จท่าเรือแห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า มีเครือข่ายท่อส่งน้ำมัน/ก๊าซ และโดยสารผู้คนที่เพิ่มขึ้นจากภาคตะวันออก ตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียได้
ไม่รวมขีดความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ไซส์มาตรฐานได้มากถึง 20 ล้านตู้ต่อปี เหมาะแก่การขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสินค้าในปริมาณมหาศาล อีกทั้งครอบคลุมการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดระนองและชุมพร ซึ่งท่าเรือทั้ง 2 แห่งเชื่อมต่อกับทางด่วน และทางรถไฟทางคู่ นับว่าสะดวกต่อการคมนาคมทางน้ำ
ปัญหาจากการสร้าง โครงการแลนด์บริดจ์
โปกเจ็กต์ชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้ คาดว่าจะกินเวลาก่อสร้างนานกว่า 6 ปี โดยจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2573 อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์ยังมีข้อถกเถียงอยู่หลายประการจากพรรคก้าวไกลว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ ประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
สืบเนื่องจากมีตัวเลขการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่นายกฯ เศรษฐา และ รมว.คลังได้นำออกไปโรดโชว์เชิญชวนให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาร่วมลงทุน โดยเฉพาะไทยคิดจะกู้เงินจากประเทศมหาอำนาจอย่าง จีน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ไว้ว่า “อาจกลายเป็นดาบสองคม” หากไทยไม่สามารถใช้คืนได้จริงจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติหนี้ (Debt Crisis) และอาจเป็นเหตุให้จีนใช้ยึดครองพื้นที่เพื่อนำไปเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเลของพวกเขา ถึงตอนนั้นไทยจะเสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งร่อง
อีกทั้ง จีน ไม่มีท่าทีให้ความสนใจต่อโครงการแลนด์บริดจ์มากเท่าโครงการคลองไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าในฐานะเป็นช่องทางออกไปยังมหาสมุทรอินเดียของเรือรบจีน
แลนด์บริดจ์ กับโอกาสขัดผลประโยชน์ในอาเซียน
การเกิดขึ้นของ แลนด์บริดจ์ เคยถูกมองว่าน่ากลัว เพราะอาจเข้ามาเบียดบังผลประโยชน์จากการแล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นทางผ่านที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีแนวโน้มออกมาว่า แลนด์บริดจ์ ไม่อาจสู้ช่องแคบมะละกาได้ เพราะยังคงเป็นเส้นทางเดินเรือหลัก โดยเฉพาะเรือขนส่งขนาดใหญ่
อีกเหตุผลที่แลนด์บริดจ์พ่ายแพ้ช่องแคบมะละกา เนื่องจากขั้นตอนการใช้บริการที่ซับซ้อน ไม่สะดวกเท่าช่องแคบมะละกาที่ใกล้กว่า ไม่ต้องเทียบท่าที่ท่าเรือฝั่งอันดามันเพื่อขนถ่ายสินค้าลงรถบรรทุกหรือรถราง แล้วค่อยขนลงเรือที่ฝั่งอ่าวไทยอีกรอบหนึ่ง การใช้แลนด์บริดจ์ไม่เหมาะกับเรือที่มีขนาดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์สูงที่ช่องแคบมะละกายังคงเป็นที่นิยมไปอีกนาน
หากมองให้ลึกลงไป เส้นทางศูนย์กลางเดินเรือขนาดใหญ่ในอนาคตอาจไม่ใช่ประเทศไทยแต่เป็นเวียดนามที่น่าสนใจมากกว่า เพราะอยู่ติดทะเลใหญ่ แต่การที่เรือจะต้องผ่านไทยและเข้ามาในเขตทะเลตอนในนั้นก็ไม่ต่างจากการเป็นถนนสายรอง หรือ Local Road
แลนด์บริดจ์ อาจรุกล้ำปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากการก่อสร้างเส้นทางเรือสายใหม่ต้องคิดถึงมิติด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงแล้ว เรื่องผลกระทบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนับเป็นหัวข้อที่ปัดตกไปไม่ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองต้องออกมาตั้งโต๊ะรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างจริงจัง
พร้อมกับรายงานผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ภายใต้การสร้างเส้นทางรถไฟจากจุดเริ่มต้นที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และมีจุดสิ้นสุดที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
หลายคนคงพอจะมองภาพออกแล้วว่า แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการจากพรรคเพื่อไทย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกอบโกยเม็ดเงินเข้าประเทศ ด้วยการเพิ่มเส้นทางเดินเรือเพื่อพัฒนาฐานเศรษฐกิจภาคใต้ ทว่ามีกระแสตีกลีบจากหลากหลายฝ่ายถึงความคุ้มค่าที่แท้จริง เนื่องจากทั่วนิยมใช้ทางเดินเรือช่องแคบมะละกาอยู่แล้ว อีกทั้งงบประมาณที่สูงถึง 1 ล้านล้านบาท อาจผลกระทบทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคง กรณีรัฐต้องกู้ยืมเงินมาสร้าง ทั้งนี้เป็นห่วงวิถีชีวิตของประชาชน สิ่งและสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับปัญหาระหว่างดำเนินโครงการ
อ้างอิงข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, THE STANDARD
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- โฆษกพรรคเพื่อไทย ถาม-ตอบ 18 ข้อ “โครงการแลนด์บริดจ์” ผลดี-ผลเสีย เป็นอย่างไร
- เศรษฐา ย้ำแลนด์บริดจ์ เพิ่มโอกาส เศรษฐกิจไทยโต ดึงนักลงทุนต่างประเทศ
- 4 สส.ก้าวไกล ลาออก กมธ.แลนด์บริดจ์ ลั่นไม่ขอเป็นตรายาง