วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 33 ออนไลน์ พร้อมเอกสารที่ใช้ขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้าง ก่อนขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และวิธีเช็กสิทธิผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน
สิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเอกชน นอกจากเงินเดือน หรือสวัสดิการต่าง ๆ แล้ว สิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะลูกจ้างทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นกองทุนสำรองในอนาคตได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย นายจ้างมือใหม่อาจจะยังไม่ทราบวิธีสมัครประกันสังคมมาตรา 33 Thaiger จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกท่านมาเช็กเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อสมัครเป็นผู้ประกันตน พร้อมขั้นตอนการสมัคร และวิธีการเช็กสิทธิ
เอกสารที่ใช้ขึ้นทะเบียน เพื่อสมัครผู้ประกันตน
การสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.33 ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน และหากมีลูกจ้างใหม่ นายจ้างต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน โดยเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างประกอบด้วยเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็น ดังนี้
เอกสารที่ใช้สำหรับนายจ้าง
นายจ้างที่ต้องการยื่นสมัครผู้ประกันตน ม.33 ต้องนำเอกสารด้านล่างนี้ทั้งหมดไปแสดง ในวันยื่นแบบขึ้นทะเบียน สปส. 1-01 โดยนายจ้างแต่ละประเภทมีเอกสารที่ต้องใช้แตกต่างกัน
1. นายจ้างที่จดทะเบียนนิติบุคคล
- แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01)
- สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมวัตถุประสงค์
- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ช.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
2. นายจ้างที่เป็นเจ้าของคนเดียว
- สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประชาชน (คนต่างด้าวใช้สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)
- สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน
- สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกตามกฏหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน
- สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20)
- แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
เอกสารที่ใช้สำหรับลูกจ้าง
ลูกจ้างท่านใดที่ไม่เคยสมัครผู้ประกันตน ม.33 มาก่อน นายจ้างสามารถส่งข้อมูลลูกจ้างให้แก่สำนักงานประกันสังคม โดยมีเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นในการยื่นสมัครผู้ประกันตน ดังนี้
- แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03)
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานที่สามารถแสดงตนได้
- ใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีผู้ประกันตนเป็นชาวต่างชาติ ให้ใช้ใบอนุญาตทำงานและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
นายจ้างและลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือทางเว็บไซต์ www.sso.go.th สำหรับลูกจ้างที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาแล้ว ให้แจ้งการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03/1) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน หากไม่แจ้งภายในเวลาที่กำหนด มีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขั้นตอนการสมัครประกันสังคมออนไลน์
เมื่อผู้ประกอบการและพนักงานขึ้นทะเบียนเรียบร้อย สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ม.33 กับทางประกันสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีวิธีการดังนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
2. เข้าสู่ระบบ หากยังไม่ได้เป็นสมาชิกให้เลือก “สมัครสมาชิก” จากนั้นเข้าสู่ระบบ และเลือกเมนู “ทะเบียนผู้ประกันตน”
3. เพิ่มข้อมูลพนักงานใหม่ กรณีพนักงานเข้าใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน มาตรา 33
4. กรอกเลขที่บัตรประชาชน
5. ตรวจสอบข้อมูลและยืนยันบันทึกข้อมูล
หลังจากขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นายจ้างต้องส่งข้อมูลเงินสมทบทุก ๆ เดือน โดยสามารถส่งข้อมูลเงินสมทบออนไลน์ในระบบ e-Service ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมได้เลย
วิธีเช็กสิทธิประกันสังคม
ลูกจ้างทุกท่านที่สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน หลังจากนั้นเลือก “เข้าสู่ระบบ” เว็บไซต์จะแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33, 39 และ 40
นอกจากนี้ ผู้ประกันตนสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect โดยดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้นให้เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน แอปฯ จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน
ลูกจ้างที่สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งการรักษาพยาบาล เงินทดแทนขาดรายได้ เงินคลอดบุตร รวมถึงเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน ถือเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่ผู้ประกอบการควรมอบให้กับพนักงานทุกคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินสมทบประกันสังคม มกราคม 2567 ม.33 39 40 ต้องจ่ายกี่บาท
- เริ่มแล้ว ‘ประกันสังคม’ ม.33 และ ม.39 ใช้สิทธิ ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ
- ต้องจ่ายเพิ่ม เงินสมทบประกันสังคม 2567 มาตรา 33 ปรับขึ้นเป็น 875 บาท