สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ นั่งอยู่ในห้องแอร์ ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 จริงไหม

จากประเด็น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ล่าสุดค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น เนื่องจากต้องใส่หน้ากากกันฝุ่น ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก อีกทั้งกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมการออกกำลังกายต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่หลายคนเคยสงสัยไหมว่า หากเราหลบหลีกจากด้านนอกแล้วมาหลบในห้องที่มีแอร์ จะช่วยให้เราปลอดภัยจาก PM 2.5 หรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

ผู้เชี่ยวชาญเฉลย อยู่ในห้องแอร์ ปลอดภัยจาก PM 2.5 จริงหรือไม่?

อยู่ในห้องแอร์ ช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 จริงหรือ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชี้แจงประเด็นที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิด ว่าการหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 ที่ปลอดภัยที่สุด คือการเข้ามาหลบภายในบ้าน ที่พักอาศัย หรือภายในอาคารสถานที่ที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

สาเหตุที่เครื่องปรับอากาศไม่ช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นเพราะสภาพห้องและอาคารสถานที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักปิดไม่สนิท ทำให้มีอากาศจากข้างนอกเล็ดลอดเข้ามาได้ ซึ่งปริมาณฝุ่นภายในห้องและอาคารนั้น มีน้อยกว่าที่กลางแจ้งเพียงแค่ 15-20% ของระดับฝุ่นภายนอกเท่านั้น ด้านอากาศที่เครื่องปรับอากาศดูดเข้ามาใช้ภายในอาคารนั้น ไม่ได้กรองอากาศมากเท่าที่ควร ทำให้สภาพอากาศภายในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ได้ต่างจากด้านนอกสักเท่าไหร่

ดังนั้นแล้ว การอยู่ในเคหะสถานที่เปิดเครื่องปรับอากาศ สามารถลดฝุ่นได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น สภาพอากาศยังคงไม่ต่างจากด้านนอก เพราะมีฝุ่น PM 2.5 ที่ลอดมาตามช่องว่างในอาคาร อาทิ หน้าต่าง ประตู เป็นต้น

วิธีลดฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้านหรืออาคาร ด้วยเครื่องฟอกอากาศ

วิธีแก้ไขปัญหา PM 2.5 ภายในบ้านหรือที่พักอาศัย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้แนะนำวิธีลดฝุ่นภายในอาคารสถานที่ โดยการใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้านหรือที่ทำงาน ควบคู่กับการเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม เนื่องจากจะช่วยกรองอากาศให้สะอาดและเย็นสบายมากขึ้น อีกทั้งถูบ้านด้วยผ้าเปียก แทนการกวาดหรือดูดฝุ่น เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย รวมถึงต้องปิดประตูและหน้าต่างต่าง ๆ ให้สนิท

สำหรับตำแหน่งการวางเครื่องฟอกอากาศ แนะนำว่าควรวางใน 7 ตำแหน่ง ดังนี้

1. วางในจุดที่อากาศไหลเวียน

สำหรับจุดที่อากาศไหลเวียนดีที่สุดนั้น มักจะอยู่บริเวณกลางห้องที่ไม่มีสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์มากั้น เพราะจะทำให้เครื่องฟอกอากาศสามารถดูดอากาศเข้ามากรองได้อย่างเต็มที่

2. วางพื้นห้อง

สำหรับเหตุผลที่ต้องวางเครื่องฟอกอากาศที่พื้นห้องนั้น เพราะว่าเมื่อเครื่องฟอกอากาศปล่อยประจุไอออนลบออกมา จะไปจับกับฝุ่น PM 2.5 อนุภาคเล็กในอากศ ทำให้เกิดการจับกลุ่มรวมตัวกันและตกลงพื้น จึงทำให้เราสามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่า

3. วางเว้นระยะห่างจากผนัง 10 เซนติเมตร

การวางเครื่องฟอกอากาศให้เว้นระยะห่างจากผนังอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อให้ตัวเครื่องนั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้อากาศไหลเวียนได้ดีขึ้น

4. วางตำแหน่งที่เกิดปัญหามลพิษ

ต้นตอของการเกิดมลพิษนอกจาก PM 2.5 ภายนอกที่หลุดลอดเข้ามาภายในที่พักอาศัยหรือที่ทำงาน ดังนั้นควรนำไปตั้งบริเวณที่ใกล้ประตูหรือหน้าต่าง เพื่อเป็นการฟอกอากาศตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

5. วางในห้องปิด

การเปิดหน้าต่าง เปิดประตู รวมถึงเปิดพัดลมไปด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศลดลง เนื่องจากมีการหมุนเวียนของอากาศภายนอกตลอด รวมถึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ไส้กรองเกิดการสะสมฝุ่นมากกว่าเดิมแบบไม่จำเป็น ดังนั้นควรปิดประตู หน้าต่าง ก่อนเปิดใช้งาน

6. วางไว้ตรงข้ามเครื่องปรับอากาศ

การวางเครื่องฟอกอากาศไว้ตรงข้ามกับตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากแอร์จะช่วยดูดอากาศที่ฟอกแล้วไปยังคอยล์เย็น กลายเป็นอากาศเย็นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง ช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้นและเย็นขึ้นนั่นเอง

7. วางไว้ปลายเตียง

ที่ต้องวางเครื่องฟอกอากาศไว้ปลายเตียง เพราะเมื่อเครื่องฟอกอากาศส่งลมที่สะอาดออกมา เราจะได้สูดอากาศสะอาดในช่วงเวลานอน ทำให้หลับสบายมากยิ่งขึ้น

สำหรับการป้องกันตนเองจากฝุ่น 2.5 หากจำเป็นต้องออกไปที่กลางแจ้ง ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่าง เช่น งดออกกำลังกายและกิจกรรมกลางแจ้งนอกบ้าน สวมใส่หน้ากากกันฝุ่น N95 หรือ FFP2 หากเกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น แสบจมูก ไม่สบาย ไอ มีเสมหะ แสบตา ให้รีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อให้ตรวจและวินิจฉัยโรคต่อไป

การป้องกันตนเองจากฝุ่น 2.5

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button