Line Newsไลฟ์สไตล์

ประวัติ สมรักษ์ คำสิงห์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก เจ้าของฉายา โม้อมตะ

ประวัติ สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก เจ้าของฉายา โม้อมตะ ผู้มากประสบการณ์ในสังเวียน ทั้งยังมีผลงานละคร และเส้นทางในแวดวงการเมือง

พูดถึงนักมวยไทยที่สร้างชื่อไกลระดับโลก คงไม่มีใครไม่รู้จัก สมรักษ์ คำสิงห์ จากฝีไม้ลายมือการชกที่ยอดเยี่ยม และดีกรีตำแหน่งเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูร้อนคนแรกของไทย จากการแข่งมวยสากลสมัครเล่น นอกจากผลงานในสังเวียนมวยแล้ว สมรักษ์ยังมีผลงานในวงการบันเทิง อีกทั้งยังปรากฏตัวในแวดวงการเมืองอีกด้วย บอกเลยว่าสร้างผลงานเยอะแบบไม่ได้โม้ บทความนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเขาคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ประวัติ สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยมือสมัครเล่น สู่มืออาชีพระดับโลก

นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ ร.น. มีชื่อเล่นว่า บาส เจ้าของฉายา โม้อมตะ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ปัจจุบันอายุ 50 ปี เป็นอดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นและนักการเมืองชาวไทย ภูมิลำเนาเป็นคนหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

สมรักษ์เป็นบุตรของนายแดง และนางประยูร คำสิงห์ โดยเขาเป็นบุตรคนกลาง และมีพี่น้องรวม 3 คน สาเหตุที่ชื่อเล่นว่าบาส เป็นเพราะบิดามาราดาต้องการให้คล้องกับชื่อเล่นของพี่ชายที่เป็นนักมวยเช่นกัน

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรักษ์สมรสกับนางเสาวนีย์ คำสิงห์ ทั้งคู่รู้จักกันขณะที่เรียนอยู่ขอนแก่น และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งเป็นคนที่รู้จักในวงการบันเทิงเป็นอย่างดีคือ เบสท์ รักษ์วนีย์ คำสิงห์ และโบ๊ท ภูวรักษ์ คำสิงห์ ปัจจุบันสมรักษ์ออกมาเปิดเผยว่า ได้หย่ากับภรรยาแล้ว ช่วงประมาณเดือนตุลาคม 2566

สมรักษ์ คำสิงห์
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel

เส้นทางมวยไทยสู่ฮีโร่โอลิมปิก

สมรักษ์ได้ศึกษาที่โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาโนนสมบูรณ์ และด้วยความที่คุณพ่อเป็นนักมวยเก่า เขาจึงได้รับการฝึกฝนด้านมวยไทยตั้งแต่เด็ก ก่อนจะขึ้นสังเวียนครั้งแรก เมื่ออายุ 7 ปี จากนั้นเขาได้ไปชกตามเวทีงานวัดต่าง ๆ และถูกทาบทามจากณรงค์ กองณรงค์ หัวหน้าคณะณรงค์ยิม

หลังจากนั้น สมรักษ์จึงขึ้นชกมวยไทยในชื่อ สมรักษ์ ณรงค์ยิม และเป็นที่รู้จักในแถบจังหวัดขอนแก่น แต่สุดท้ายคุณพ่อของเขาและณรงค์เกิดแตกคอ สมรักษ์จึงย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานคร และได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา อีกทั้งได้ย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ และขึ้นชกทั้งมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น ในชื่อ “พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ”

ต่อมาเมื่อสมรักษ์ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พ่อก็ถึงแก่กรรม แต่เขาก็ยังคงเดินสายชกมวยตามที่ต่าง ๆ เมื่อความสามารถถึงระดับหนึ่งแล้ว เขาจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐาน ทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี และมีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังในยุคนั้น เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย, ช้างน้อย ศรีมงคล, บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์, ฉมวกเพชร ช่อชะมวง

แม้จะทุ่มเทสุดตัว แต่ก็ไม่เคยได้แชมป์มวยไทยของเวทีใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2538 สมรักษ์ชนะน็อค สุวิทย์เล็ก ส.สกาวรัตน์ ยก 4 เขาจึงหันมาฝึกหมัดด้านมวยสากลสมัครเล่นอย่างเดียว โดยค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาทเลยทีเดียว

เมื่อสมรักษ์จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา เขาได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสร และจะบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือด้วย จากการทาบทามครั้งนี้ สมรักษ์ได้ทั้งแชมป์ประเทศไทย เหรียญทองกีฬาแห่งชาติ และยศทหารสัญญาบัตร สังกัดกองทัพเรือไทยด้วย

สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวย
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel

สมรักษ์เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา พ.ศ. 2535 ในรุ่นเฟเธอร์เวท รอบแรก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เขาเอาชนะ ไมค์ สแตรงก์ จากแคนาดา ส่วนรอบสอง แพ้ฟาอุสติโน เรเยส จากสเปน

ต่อมา พ.ศ. 2536 สมรักษ์ได้เหรียญทองมวยทหารโลกที่ประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬาซีเกมส์ในปีนั้น เนื่องจากความไม่พร้อม อีกทั้งเขาเกือบจะถูกตัดสิทธิ์ เพราะตรวจสมรรถภาพร่างกายไม่ผ่านในครั้งแรก ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 เมื่อ พ.ศ. 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น แต่เขาก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ และเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเพียงคนเดียวในการแข่งขันนั้น

พ.ศ. 2538 สมรักษ์ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้าย ช่วง พ.ศ. 2539 เป็นช่วงที่เขามีชื่อเสียงอย่างถึงขีดสุด เนื่องจากเขาสามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมา จากการเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5

ก่อนการชกในรอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระเช้าผลไม้มายังสมรักษ์และทีมงาน พร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะ โดยการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ เขาใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kamsing Somluck” โดยเจตนาให้มีนัยทางโชค

ภายหลังจากได้เหรียญทอง สมรักษ์กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกถึง อีกทั้งทางกองทัพเรือ (ทร.) ก็ได้เลื่อนยศให้สมรักษ์เป็นเรือตรี (ร.ต.) ซึ่งเดิมสมรักษ์มียศเป็นจ่าเอก (จ.อ.) อีกด้วย

นอกจากนี้ ด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่าย สนุกสนาม เฮฮา ทำให้เขามีผลงานด้านการละครมากมาย แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังมั่นคงในอาชีพนักมวย และได้ทำนายผลการชกล่วงหน้า จนได้ฉายาว่า โม้อมตะ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิกในครั้งนั้น สมรักษ์ไม่เคยได้รับชัยชนะอีกเลย กระทั่งการแข่งขันรุ่นเฟเธอร์เวท โอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ พ.ศ. 2547 เขาแพ้นักชกจากแคนาดา และเลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาดตั้งแต่นั้นมา

สมรักษ์ คำสิงห์ โม้อมตะ
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel

กลับมาขึ้นสังเวียนอีกครั้ง

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร สมรักษ์รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นของสถานีโทรทัศน์ NBT และในวันที่ 4 ตุลาคม ของปีเดียว สมรักษ์ได้กลับขึ้นมาชกมวยไทยอีกครั้ง โดยพบกับ ยอดวันเผด็จ สุวรรณวิจิตร อดีตยอดนักมวยไทยอีกคน ในการชกนัดพิเศษที่เวทีราชดำเนิน ที่มีเงินเดิมพันถึง 5,770,000 บาท

ปรากฏว่าสมรักษ์เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ในยกที่ 3 ด้วยการฟันศอกใส่ จนกรรมการต้องยุติการชก การชกนัดนี้ยังสามารถเก็บเงินค่าผ่านประตูได้สูงถึง 2,950,000 บาท ยอดผู้ชมกว่า 20,000 คน ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาสนใจมวยไทย โดยสมรักษ์ยังบอกด้วยว่าต้องการที่จะชกกับ บัวขาว ป.ประมุข อีกด้วย

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 สมรักษ์ขึ้นชกในรายการศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร ที่เวทีมวยลุมพินี โดยใช้ชื่อว่า “สมรักษ์ ส.เทพสุทิน” ในสังกัดของสมศักดิ์ เทพสุทิน โดยมีฌอง-โกล็ด วอง ดัม รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และสมรักษ์เป็นฝ่ายแพ้คะแนน จอมโหด หมอเบสกมลา หรือ จอมโหด เกียรติอดิศักดิ์ ไปด้วยคะแนน 47-49, 47-49 และ 47-49

กระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สมรักษ์มีกำหนดขึ้นชกกับ ฟิลิปเป บัวส์ นักมวยไทยชาวฝรั่งเศส ในรุ่นมิดเดิลเวท ที่เวทีมวยชั่วคราว โกดัง 4 ภายในศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ขึ้นชก เนื่องจากติดถ่ายละคร ไม่มีเวลาซ้อม ยินดีชดเชยทั้งหมด ก่อนประกาศแขวนนวมไปในที่สุด

เส้นทางในวงการบันเทิงก่อนถูกสั่งล้มละลาย

สมรักษ์มีผลงานในวงการบันเทิงมากมาย เริ่มจากละครเรื่อง นายขนมต้ม ทางช่อง 7 ซึ่งรับบทเป็นนายขนมต้ม โดยประกบคู่กับ กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ และเพื่อน ๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน

ปัจจุบันสมรักษ์ยังคงมีผลงานในวงการบันเทิง อีกทั้งได้แสดงภาพยนตร์ระดับโลกเรื่อง จอมคนผงาดโลก พ.ศ. 2549 โดยบทบาทในเรื่องต้องปะทะกับ หลี่เหลียนเจี๋ย นอกจากนี้ เขายังมีกิจการเป็นของตัวเองคือ ร้านหมูกระทะ ชื่อ “สมรักษ์ย่างเกาหลี” ย่านเกษตร-นวมินทร์ และมีค่ายมวยของตนเอง ชื่อค่าย “ส.คำสิงห์”

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศเรื่อง ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ นางเสาวนีย์ คำสิงห์ และนายสมรักษ์ คำสิงห์ เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ มหานคร จำกัด ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลย เนื่องจากมีหนี้สินจากการเปิดปั๊มน้ำมันกว่า 4 ล้านบาท

จากกรณีนี้ สมรักษ์ชี้แจงว่า เป็นคดีเก่าที่ค้างคามาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยยังคงชกมวยสมัครเล่น สาเหตุเกิดจากความไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องเอกสาร ประกอบกับธุรกิจขาดทุน จนสุดท้ายก็เลยกลายเป็นคดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

เบนเข็มสู่แวดวงการเมือง

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สมรักษ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกับเพื่อนนักมวยอีก 3 คน ได้แก่ เขาทราย แกแล็คซี่, มนัส บุญจำนงค์ และเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง โดยสมรักษ์ลงรับสมัครเลือกตั้งในเขต 10 อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 สมรักษ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 11 จังหวัดขอนแก่น สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งอีกเช่นเคย

ปัจจุบันสมรักษ์ปรากฏตัวผ่านสื่อโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงช่องยูทูบของลูกสาว เบสท์ รักษ์วนีย์ คำสิงห์ อีกด้วย ท่านใดที่อยากติดตามนักมวยผู้มากประสบการณ์ สามารถติดตามได้ที่ YouTube Kamsing Family Channel

สมรักษ์ คำสิงห์ โอลิมปิก
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel
สมรักษ์ คำสิงห์ ครอบครัว
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel
สมรักษ์ คำสิงห์ เบส
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel
สมรักษ์ คำสิงห์ ไม่ได้โม้
ภาพจาก Facebook : Kamsing family channel

ขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button