เงินเดือนพนักงานอัยการ ฐานเงินเดือนตามชั้น
อัตราเงินเดือนและเงินประจำแหน่งของพนักงานอัยการ เริ่มต้นที่ 25,000 บาท ถึง 81,920 บาท แตกต่างกันไปตามแต่ละขั้น โดยตำแหน่งข้าราชการอัยการมีทั้งหมด 8 ขั้น อ้างอิงข้อมูลจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. อัยการสูงสุด (อัยการชั้น 8)
- อัตราเงินเดือน 81,920 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 123,040 บาท
2. รองอัยการสูงสุดและผู้ตรวจการอัยการ (อัยการชั้น 7)
- อัตราเงินเดือน 80,540 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 42,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 121,360 บาท
3. อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค รองอธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย และอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (อัยการชั้น 6)
- อัตราเงินเดือน 78,170 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 119,670 บาท
4. อัยการผู้เชี่ยวชาญ (อัยการชั้น 5)
- อัตราเงินเดือน 76,800 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 41,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 117,800 บาท
5. อัยการจังหวัดและอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (อัยการชั้น 4)
- อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 74,360 – 75,560 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเริ่มต้น 30,000 – 40,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 104,360 – 115,560 บาท
6. อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดหรือรองอัยการจังหวัด (อัยการชั้น 3)
- อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 37,110 – 73,240 บาท
- เงินประจำตำแหน่งเริ่มต้น 23,300 – 29,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 60,410 – 102,240 บาท
7. อัยการประจำกองหรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย (อัยการชั้น 2)
- อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 30,000 – 34,210 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 20,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 50,000 – 54,210 บาท
8. อัยการผู้ช่วย (อัยการชั้น 1)
- อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 – 26,930 บาท
- เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท
- รวมเงินเดือนที่ได้รับ 35,000 – 36,930 บาท
อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ โดยตำแหน่งอัยการสูงสุด ถือเป็นระดับชั้นสูงสุดของพนักงานอัยการ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่รัฐบาลและดำเนินการทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนพนักงานอัยการระดับชั้นอื่น ๆ จะเป็นผู้รับหน้าที่ที่อัยการสูงสุดเป็นผู้มอบให้ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางกฎหมายแทนรัฐบาล เกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีปกครอง และปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ ฝ่ายอัยการ กำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
คุณสมบัติเบื้องต้นของคนเป็นอัยการ
ท่านใดที่สนใจต้องการเข้ารับราชการเป็นพนักงานอัยการ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ระบุไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
คุณสมบัติทั่วไป
- มีสัญชาติไทย
- ผู้สมัครสอบคัดเลือกหรือผู้สมัครทดสอบความรู้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต
- เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.อ. กำหนด และ ก.อ. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นสมควรรับสมัครได้
- เป็นนิติศาสตรบัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.อ. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นข้าราชการตุลาการ จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญหรือทนายความ หรือได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่างอื่นตามที่ ก.อ. กำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี
ลักษณะต้องห้าม
- เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
- เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
- เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคตามที่ ก.อ. ประกาศกำหนด
สำหรับท่านใดที่มีใจรักงานด้านกฎหมาย และต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านนิติศาสตร์ อาชีพพนักงานอัยการ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพข้าราชการที่มีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่แลกมาด้วยความท้าทายในการประกอบอาชีพนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา / สำนักงานอัยการสูงสุด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง