ข้อมูลสถานการทางการเงินคนไทยน่าตกใจ รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า คนไทยหนี้สูงถึง 37% หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพียงระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 37% กว่าครึ่งเป็นหนี้ที่มียอดเงินสูงมากเกิน 1 แสนบาท
เมื่อไปสืบค้นข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม พบว่าในปี พ.ศ. 2565 มีผู้กู้เงินนอกระบบในประเทศไทยประมาณ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของประชากรทั้งประเทศ โดยจำนวนผู้กู้เงินนอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 ประมาณร้อยละ 2.1
ด้านมูลค่าหนี้นอกระบบอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของ GDP โดยมูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 ประมาณร้อยละ 2.5
จากสถิติดังกล่าว พบว่าจำนวนผู้กู้เงินนอกระบบในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น เศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายได้ที่ลดลง และความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน
ทำไมคนไทยถึงเลือกไปกู้หนี้นอกระบบ
ประชากรไทยที่ทำอาชีพอิสระมีประมาณ 12.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.2 ของประชากรทั้งประเทศ กลุ่มอาชีพอิสระที่พบมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป งานฝีมือ และอาชีพอิสระอื่นๆ โดยกลุ่มอาชีพอิสระเหล่านี้มักมีรายได้ไม่สูงและไม่มีสวัสดิการหรือความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลต่อการอนุมัติกู้กับสถานบันการเงินในระบบ
เมื่อไม่มีรายได้เงินเดือนที่แน่นอน ธนาคารไม่มั่นใจในความสามารถชำระหนี้ กู้ไม่ผ่าน คนก็หันหน้าไปพึ่งการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งอนุมัติง่าย ไม่ตรวจสอบ แต่ต้องแลกตามมากับดอกเบี้ยมหาโหด
การกู้เงินนอกระบบมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การกู้ยืมเงินจากนายหน้า กู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง กู้ยืมเงินจากเพื่อนฝูง หรือกู้ยืมเงินจากกลุ่มแชร์ เป็นต้น จุดร่วมที่เหมือนกันคือเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง
เงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยมหาโหด
คนเหล่านี้ที่ตั้งตัวเป็นเจ้าหนี้ให้กู้เงิน ไม่ได้รับรองอย่างถูกกฎหมาย จึงมักจะตั้งดอกเบี้ยได้ตามอำเภอใจ บางครั้งสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน คนที่กู้เงินจึงต้องหาเงินจำนวนมากมาจ่ายหนี้ที่ส่วนใหญ่มักเป็นดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลดลงเลย
เมื่อหาเงินมาจ่ายไม่ทันกำหนด เจ้าหนี้มักมีวิธีการทวงหนี้ที่รุนแรง เช่น ให้พวกหมวกกันน็อกติดตามทวงหนี้ที่บ้านหรือที่ทำงาน ประจานลูกหนี้ต่อสาธารณะ หนักไปถึงข่มขู่ทำร้ายร่างกาย หรือจนถึงแก่ชีวิต
ดังเช่นเหตุการณ์พ่อค้าขายผลไม้ที่จังหวัดชลบุรี โดนเจ้าหนี้ยิงเผาขนเสียชีวิต เพียงเพราะแค่ไม่จ่ายค่าดอกเบี้ย 2 วัน รวมเป็นเงิน 400 บาท จากเงินต้นที่กู้ยืมมา 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยรอยละยี่สิบ
สาเหตุอะไรที่ทำให้คนไปกู้เงินนอกระบบ ทั้งที่รู้ว่าดอกเบี้ยแพง
ปัญหานี้ต้องย้อนกลับไปที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ในระบบสถานบันการเงิน เมื่อต้องการใช้เงินจำเป็นเร่งด่วน นอกระบบมีจุดเด่นที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า โดยผู้กู้อาจเพียงแค่ติดต่อผู้ให้กู้ผ่านโทรศัพท์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ก็สามารถได้รับเงินกู้ได้ภายในวันเดียว หรือภายในไม่กี่วัน
ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นอีกอย่างที่สำคัญ การกู้หนี้จากสถาบันการเงินมักต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ หรือที่ดิน แต่การกู้หนี้นอกระบบไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ผู้กู้ที่มีรายได้ไม่สูงหรือมีประวัติทางการเงินไม่ดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
รัฐบาลแก้ปัญหา ออกมาตรการ “แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว
รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ดำเนินโครงการ แก้ไขปัญหานี้นอกและในระบบ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านหน่วยงาน 5 ช่องทางได้แก่
- เว็บ debt.dopa.go.th
- App ThaiID
- สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567
- ที่ว่าการอำเภอ
- สำนักงานเขตทุกแห่งใน กทม.
การดำเนินการเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้กลไกการทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
นายเศรษฐากล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ นับจากนี้เป็นต้นไปมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุด ตรงประเด็น และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แก้หนี้นอกระบบกับ “ธ.ก.ส.-ออมสิน” ทำยังไง ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
- วิธีตรวจสอบสถานะ ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ เช็คได้ทุกช่องทาง
- สอนขั้นตอน ลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านแอป ThaID เริ่ม 1 ธันวาคม