กระทรวงการปกครอง เผย 3 มาตรการช่วยหนี้นอกระบบ พร้อมห้วงเวลาลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ดีเดย์ 1 ธันวาคม 2566 ด้านภาคธนาคารได้สนองนโยบายรัฐด้วยการออกโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติม
หลังจากที่รัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้แถลงข่าวว่าจะยกเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ออก 3 มาตราการ “ช่วยเหลือ ป้องกัน ปราบปราม” โดยได้เผยช่วงเวลาของโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชน วันนี้เราจึงขอพาทุกคนมาเปิดไทม์ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ และมาตราการอื่น ๆ ที่ทางภาครัฐได้ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบเชิงรุก
สำหรับมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และการทวงถามหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากกระทรวงมหาดไทยนั้น แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือ
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานเขตทุกแห่งให้อำเภอรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยกรมการปกครองจะนำข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมาตรการช่วยเหลือนี้จะกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้
ประชาสัมพันธ์การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ
- วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567
รับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ
- วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567
รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภท
- วันที่ 15 ธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567
ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียน
- วันที่ 1 มกราคม 2567 – สิงหาคม 2567
ประเมินผลการดำเนินการ
- วันที่ 15 ธันวาคม 2566 – เสร็จสิ้นโครงการ
2. มาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกัน
สำหรับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการถูกข่มขู่หรือทวงหนี้นอกระบบ มีดังนี้
- ให้อำเภอไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน ในการเฝ้าระวังบุคคลที่มีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ หากพบเห็นให้รายงานไปทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการขั้นต่อไป
- ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจทวงถามหนี้ในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ได้ดำเนินการจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
3. มาตรการปราบปราม
ด้านมาตรการปราบปรามการทวงหนี้เงินกู้นอกระบบ มีดังนี้
- กรณีพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เงินกู้นอกระบบ ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัด และชุดปฏิบัติการพิเศษอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ
- ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครอง จะประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้ที่กระทำความผิด ด้วยความมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาบูรณานาการให้ความช่วยเหลือร่วมกับทุกหน่วยงาน ตามอำนาจหน้าที่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติการ (ส่วนอำนวยความเป็นธรรม) ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานเขตทุกแห่ง เบอร์โทรศัพท์ 02-356-9660
โครงการตามนโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบจากออมสิน และ ธ.ก.ส.
ทางด้านธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้สนองนโยบายของภาครัฐ จัดทำสินเชื่อและโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชน สามารถเช็คเงื่อนไขการขอกู้และเข้าร่วมโครงการได้เลย
สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ (ธนาคารออมสิน)
วัตถุประสงค์
- เพื่อนำเงินจากสินเชื่อไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือการอุปโภคบริโภค แต่ต้องไม่เป็นการนำไปชำระ (Re-Finance) หนี้ในระบบ
วงเงินกู้
- ให้กู้ตามมูลหนี้นอกระบบจริง และตามความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท
อัตราดอกเบี้ย
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน
ค่าธรรมเนียม
- 100 บาทต่อสัญญา
ระยะเวลาการชำระ
- ชำระคืนในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
รายละเอียดคุณสมบัติการสมัคร
- เป็นผู้ที่มีการประกอบอาชีพ มีรายได้
- สัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุของผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 65 ปี
- มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้
- เป็นผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ (นร.1) สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ขอกู้จากธนาคาร
หลักประกันเงินกู้
- ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นเงินหลักประกันเงินกู้
เอกสารประกอบการขอกู้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน
- เอกสารแสดงรายได้ในการประกอบอาชีพ สมุดบัญชีเงินฝาก สลิปเงินเดือน (ถ้ามี)
- เอกสารรายรับ/รายจ่าย (ถ้ามี)
- รูปถ่ายสถานที่ประกอบอาชีพ
- กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นำสำเนาหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันไปด้วย
สำหรับลูกหนี้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ GSB Contact Center โทร. 1115
โครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)
วัตถุประสงค์
- เพื่อชำระหนี้นอกระบบที่เกิดจากเกษตรกร หรือคู่สมรส หรือบุตร หรือบิดามารดารของเกษตรกร หรือบิดามารดาของคู่สมรสซึ่งอยู่ในความอุปการะของเกษตรกร
รายละเอียดคุณสมบัติการสมัคร
- หนี้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
- เป็นผู้มีความสามารถสร้างรายได้ทางเกษตรกร หรือรายได้จากทางอื่นเพียงพอต่อการชำระหนี้
- กรณีลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กำหนดให้มีทายาท หรือบุคคลในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนเป็นลูกหนี้ร่วม
ข้อมูลจำเป็นที่ต้องใช้ในโครงการ
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หรือ ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้
- เบอร์โทรศัพท์ของผู้เข้าร่วมโครงการ
- ภาระหนี้นอกระบบทั้งหมด
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จ ทางธนาคารจะติดต่อกลับผ่านช่องทางที่ให้ข้อมูลไว้
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://informaldebt.baac.tech/ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรใกล้บ้าน หรือ Call Center 02-555-0555
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง