ที่มา “คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี” วลีดัง หลังชาวเน็ตแห่จับโป๊ะ IO
ไวรัล “คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี” คืออะไร หลังชาวเน็ตแห่แชร์สนั่นโลกออนไลน์ เผยที่มาสุดพีค เชื่อมโยงไปถึงขบวนการ IO ปั่นคอมเมนต์ใต้ข่าวดัง
สังเกตกันไหมว่า ในช่วงนี้ชาวเน็ตจำนวนมากหันมาโพสต์สเตตัสว่า คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี จนกลายเป็นสีสันฮา ๆ ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แต่เชื่อว่ายังมีหลายคนที่ไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วประโยคนี้ มาจากการจับโป๊ะแก๊งค์ IO หรือ “Information Operation” ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร ที่ต้องการปั่นกระแสสังคมให้ไปในทิศทางที่ต้องการนั่นเอง
วันนี้ไทยเกอร์เลยจะพาทุกคนไปดูว่า คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงสาวไปยังขบวนการไอโอได้อย่างง่ายดาย
ที่มาประโยคดัง ‘คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี’ คืออะไร
สำหรับจุดเริ่มต้นของ คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี ต้องย้อนกลับไปในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเพจเฟซบุ๊กชื่อดังอย่าง Drama-addict ได้ออกมาโพสต์ภาพจับโป๊ะแก๊งค์ IO ให้ได้ดูกันแบบชัด ๆ
ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นว่า มีคนจำนวนหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์ใต้ข่าวดัง ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวกับการชื่นชม Soft Power แต่เมื่อกดเข้าไปส่องโปรไฟล์แต่ละคนก็ได้เจอกับความพีค เพราะพวกเขาตั้งสเตตัสเหมือนกันว่า
” คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี555.”
นอกจากนี้ยังมีคนสังเกตด้วยว่า ขบวนการ IO กลุ่มนี้ ยังได้ตั้งโปรไฟล์ว่าประกอบอาชีพครีเอเตอร์ดิจิทัล ซึ่งทำงานให้กับแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งชื่อดังระดับโลกเหมือนกันอีกด้วย
ทำให้หลายคนได้นำวลีเด็ด คิดถึงแฟนจังเมื่อไหร่จะมี มาโพสต์แชร์ต่อในโลกออนไลน์ ถือเป็นสีสันฮา ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปั่นกระแสของไอโอนั่นเอง
IO ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร ตัวร้ายในโลกออนไลน์
สำหรับขบวนการ IO หรือ “Information Operation” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านข่าวสาร ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ความคิดเห็นของประชาชน เอนเอียงไปในทางที่ต้องการ โดยจะทำหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือ ปลุกปั่น และยุยงส่งเสริม ตามหัวข้อต่าง ๆ ที่ได้รับภารกิจมา
ทั้งนี้ขบวนการ IO สามารถปรากฏได้ในหลากหลายช่องทาง เช่น คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย การบิดเบือนข่าวสาร การกระจายข้อมูลพร้อมกัน การแสร้งปล่อยข่าวลับ มายาทางทหาร และจิตวิทยามวลชน
ดังนั้นใครก็ตามที่เสพสื่อ ไม่ว่าจะในช่องทางสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ ต้องพึงระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของไอโอ เพราะยุทธการทางข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ สามารถเข้าไปสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจและความเชื่อของเราได้นั่นเอง.