กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟ งวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 67 เฉลี่ยสูงถึง 4.68 บาท/หน่วย หลังเปิดรับฟังความเห็นไว้ 3 ทางเลือก เพื่อลดผลกระทบประชาชน แต่ต้องปรับให้สะท้อนต้นทุนบางส่วน
ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะ 3 ทางเลือก ขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68-5.95 บาท งวดมกราคม-เมษายน 2567 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.99 บาท โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชน
ขึ้นค่าไฟงวด มกราคม – เมษายน 2567 ประชาชนอ่วม
ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยถึงการประชุมกกพ. ครั้งที่ 53/2566 (ครั้งที่ 881) ว่า ที่ประชุมได้มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft ) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าFt ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยจากงวดก.ย.-ธ.ค. เฉลี่ยรวมที่3.99 บาทต่อหน่วยมา อยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สำหรับการพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 กกพ.คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฝผ. เป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้กฟผ. มีสภาพตคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้ที่จำเป็น
ทั้งนี้ กกพ. ขอเชิญชวนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัดการใช้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูก เพื่อเป็นร่มเงาลดอุณหภูมิให้กับตัวบ้าน จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของตัวเองและภาระโดยรวมของชาติ
ขึ้นค่าไฟ 4.68 บาท กระทบต่อภาระประชาชนอย่างไรบ้าง
อ้างอิงตัวเลขแถลงของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ2.6 ในไตรมาสแรกของปี 2566 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีหนัก
การขึ้นค่าไฟในช่วงต้นปี 2567 ย่อมกระทบต่อประชาชนทั่วไป เนื่องจากจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของคนทำงานลดลง ส่งผลเป็นวงจรที่ซ้ำเติมกัน นอกจากนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ การขึ้นค่าไฟจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
แนวทางในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟต่อประชาชนไทย ภาครัฐควรพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น การให้ส่วนลดค่าไฟ การให้เงินอุดหนุนค่าไฟ หรือการปรับโครงสร้างไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยอาจพิจารณานำพลังงานทดแทนมาใช้มากขึ้น
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนแทนการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง