วิธีขอขมาพระแม่คงคา คำอธิษฐานวันลอยกระทง เสริมสิริมงคลส่งท้ายปี
วิธีขอขมาพระแม่คงคงในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ประจำปี 2566 พร้อมคำอธิฐานในวันเพ็ญเดือนสิบสอง 27 พฤศจิกายนนี้ เสริมสิริมงคลให้ชีวิตก่อนจบปี
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับวันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 บรรยากาศคึกครื้นรื่นเริง อันรายล้อมไปด้วยแสง สี เสียง และบรรดาของประดับตกแต่งหลากหลายสีสัน ชวนให้รู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขไปกับงานเทศกาลที่หนึ่งปีมีครั้ง แต่นอกจากภาพความสนุกสนานแล้วนั้น วันลอยกระทง นับเป็นวันแห่งการอธิษฐานขอพรพระแม่คงคา หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีตกาล
เทศกาลวันลอยกระทงประจำปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนชาวไทยมักจะนำกระทงที่ประดับตกแต่งอย่างงดงามมาลอยน้ำ เพื่อเป็นการขอขมาแด่พระแม่คงคา เทวีผู้ปกปักรักษาผืนน้ำทั่วทุกหนทุกแห่ง รวมไปถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งตามความเชื่อจะเปรียบกระทงเป็นความทุกข์ในชีวิต การลอยน้ำออกไปจึงเป็นการปลดปล่อยทุกข์โศกไปกับสายน้ำที่ไม่มีวันไหลย้อนคืน ทั้งนี้ ระหว่างการลอยกระทงผู้ลอยก็จะอธิษฐานขอพรร่วมด้วย เพื่อเสริมสิริมงคลให้ชีวิต
วิธีขอขมาพระแม่คงคงในวันลอยกระทง ประจำปี 2566
1. เริ่มด้วยการนำกระทงประทีปรูปดอกบัวบานเป็นสื่อกลางในการขอขมาต่อพระแม่คงคา
2. ปักธูปจำนวน 3 ดอก แทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พร้อมด้วยเทียน 1 เล่ม พร้อมประดับประดาดอกไม้สีสวยสดงดงามลงในกระทง สามารถสักการะด้วยดอกไม้สีเหลือง สีส้ม หรือสีเขียว สีชมพูของดอกบัว ทั้งนี้ตามความเชื่อทางฝั่งอินเดียมักจะขอขมาพระแม่คงคาด้วยกำยาน
3. นำเส้นผม เล็บของผู้ลอยกระทงใส่ลงไปในกระทงด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกสามารถนำเหรียญกษาปณ์ใส่ลงไปแทน เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์
4. สวดภาวนาด้วยคำขอขมาพระแม่คงคา และคำอธิษฐานวันลอยกระทง
5. ลอยกระทง ณ แหล่งน้ำ อาทิ ลำคลอง แม่น้ำ
คำขอขมาพระแม่คงคาในวันลอยกระทง 2566
เริ่มต้นด้วยการกล่าวชื่อตามด้วยวัน/เดือน/ปีเกิด จากนั้นท่องว่า “สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต”
ข้าแต่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคา มีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา
ลูกลูกทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย
ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ
คำขอขมาพระแม่คงคาฉบับสั้น ในวันลอยกระทง
เริ่มที่การท่องนะโม 3 จบ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” และตามด้วยคำขอขมา “สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต”
คำอธิษฐานวันลอยกระทง
เริ่มด้วยการตั้งจิตอธิษฐาน และท่องตั้งนะโม 3 จบ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” และกล่าวว่า
มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชา ซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่เหนือหาดทรายในแม่น้ำชื่อนัมมทานทีโน้น ด้วยประทีปนี้ กิริยาที่บูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
คำอธิษฐานวันลอยกระทง โดย แม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ธรรม
ท่องตั้งนะโม 3 จบ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” จากนั้นกล่าวว่า
อุกาสะ อุกาสะ ดอกไม้ ธูป เทียน ชวาลา รูปนาม และชีวิต พร้อมไปด้วยการปฏิบัติ ทั้งภายในและภายนอก ขอบูชาแด่พระโพธิญาณ พระพุทธัง พระธัมมัง พระสังฆัง ขอให้แม่พระธรณีจงมาเป็นทิพยญาณให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดนะพระเจ้าข้า นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ
ข้าพเจ้าได้อาศัย ดิน น้ำ ลม ไฟ มีแม่พระคงคาเป็นต้นที่มีชีวิตอยู่ได้ บุญกุศลใดที่ข้าพเจ้าได้สร้างเอาไว้ในภพนี้ ชาตินี้ จงส่งผลเป็นปฏิบัติบูชาแด่แม่พระคงคา ขอประทีปนี้สว่างไสวในสัมมาอาชีพและปัจจัย 4 เป็นปฏิบัติบูชา และอโหสิกรรม ถ้าข้าพเจ้าเคยล่วงเกินแม่พระคงคาด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำให้แม่พระคงคาเปื้อนศีล 5 ประทีปนี้ถวายปฏิบัติบูชาและขอขมาต่อแม่พระคงคา
สำหรับวันลอยกระทงประจำปี 2566 ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ Thaiger ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยไปด้วยกัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมความเชื่อที่ดำรงคู่ชาติไทยและคนไทยมาอย่างช้านานให้ยังคงอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากการตั้งมั่นขอขมาพระแม่คงคา เทวีผู้คุ้มครองแหล่งน้ำแล้วนั้น การคำนึงถึงปัญหามลพิษทางน้ำก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวไทยทุกคนควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สถานที่ลอยกระทง 2566 ทั้ง 77 จังหวัด รวมทุกงานไว้ที่นี่
- ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2566 เช็กกำหนดการสืบสานประเพณีล้านนา 26-28 พ.ย.นี้
- ประวัติวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ขอขมาพระแม่คงคา ตรงกับวันอะไร