การเงินเศรษฐกิจ

วิธีขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ รับเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1000 บาท

รวมมาให้ทุกช่องทาง ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ พร้อมวิธีปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชัน และตรวจสอบสิทธิเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1000 บาท

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 โดยมีงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท และได้จ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ และได้เงินสูงสุด 20,000 บาทต่อครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 4.68 ล้านครัวเรือน ส่วนเกษตรกรท่านใดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ สามารถเช็กขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพื่อรับเงินช่วยเหลือได้ด้านล่างนี้

วิธีขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ ออนไลน์

3 ช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตร ปี 2566/67

เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรได้ 3 วิธี โดยสามารถยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือขึ้นทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ดังนี้

1. สามารถยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หรือจุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอนั้น ๆ กำหนด

2. สามารถยื่นเอกสารต่อผู้นำชุมชนหรือตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม.

3. ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th

สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ โดยติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ชาวนาต้องเตรียมเอกสารในการยื่นให้ครบถ้วน ได้แก่ แบบคำร้องทะเบียนเกษตรกร ทบก.01 บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาหลักฐานถือครองที่ดิน

เกษตรกรสามารถยื่นเอกสารได้ตามวันและเวลาราชการ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ส่วนท่านใดที่ไม่สะดวก สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนในระบบออนไลน์ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนออนไลน์

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ต้องการขึ้นทะเบียนเกษตรรายใหม่ ประจำปี 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถลงทะเบียนในระบบ e-Form ได้ ทั้งในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ โดยมีขั้นตอนการกรอกข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียน ดังนี้

1. เข้าสู่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th

2. คลิกหัวข้อ ขึ้นทะเบียน

3. กรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ รหัสผ่าน วันเกิด และหมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser Code) ให้ครบถ้วน จากนั้นคลิกยอมรับข้อกำหนด และคลิปปุ่มลงทะเบียน เป็นอันเสร็จสิ้น

หากเกษตรกรต้องการยกเลิกข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ ให้เข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์เดิม จากนั้นให้กดปุ่มยกเลิกการขึ้นทะเบยน โดยสามารถยกเลิกผ่านระบบ e-Form ได้ เฉพาะกรณีที่ยังไม่ได้แจ้งปลูกเท่านั้น หากแจ้งปลูกแล้วต้องการยกเลิก ต้องไปดำเนินการที่สำนักงานเกษตรอำเภอตามทะเบียนบ้านเท่านั้น

หลังจากชาวนาขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์แล้ว เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการในการตรวจสอบข้อมูล จากนั้นเกษตรกรจะสามารถตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนผ่านระบบ e-Form ได้

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนออนไลน์

วิธีปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรออนไลน์

ชาวนาท่านใดที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ ประจำปี 2566 แล้วเรียบร้อย นอกจากจะสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอแล้ว ยังสามารถปรับปรุงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ได้อีกด้วย โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Farmbook สามารถใช้ได้ทั้งโทรศัพท์มือถือระบบ Android และระบบ iOS

2. กดเลือกเมนู แจ้งปลูก

3. เลือกแปลงปลูกที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

4. เลือกพืชที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

5. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน

6. กดบันทึกข้อมูล เป็นอันเสร็จสิ้น

วิธีเช็กสิทธิเงินช่วยเหลือชาวนา

ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ ในปี 2566 สามารถตรวจสอบสิทธิการโอนเงินเยียวยาเกษตรกรได้ผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน มีขั้นตอนการเช็กสิทธิรับเงินช่วยเหลือ ดังนี้

1. เข้าสู่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com

2. กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 13 หลัก

3. คลิกปุ่ม ค้นหา

หลังจากทำตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว หน้าเว็บไซต์จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชี จำนวนเงิน และโครงการช่วยเหลือที่เกษตรกรได้รับ

ชาวนาท่านใดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ สามารถยื่นเอกสารและขึ้นทะเบียนได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในข้างต้น เพื่อให้เกษตรรายย่อยมีรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไปในอนาคต

เกษตรกรรายใหม่ เงินช่วยเหลือ

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button