ชลน่าน เตรียมยกร่างกฎหมายใหม่กัญชา “ห้ามใช้สันทนาการ” แจงกระทบร้านกัญชาหรือไม่
ชลน่าน ยกร่างกฎหมายใหม่กฎหมายควบคุมกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามใช้สันทนาการ ปิดช่องโหว่ ช่องว่างที่เป็นข้อห่วงใยของประชาชน โดยเฉพาะการนำพืชสมุนไพรไปใช้ผิดประเภท
เรียกได้ว่าเป็นการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายการใช้พืชสมุนไพรอย่าง “กัญชา” ได้ชัดเจนมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มทีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กันขึ้นมาเลยทีเดียว ภายหลังจากเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกเปิดเผยถึงการยกร่างพระราชบัญญัติ กัญชง กัญชา พ.ศ. … ใหม่
หลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ.ฯ เดิมไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา พยายามปิดช่องโหว่ ช่องว่าง ที่เป็นข้อห่วงใยของประชาชน โดยเฉพาะการนำกัญชาไปใช้ผิดประเภท และส่งเสริมให้ใช้ในการแพทย์และสุขภาพ มีมาตรฐานควบคุมชัดเจน
หลักการ “ห้ามใช้ในเชิงสันทนาการหรือการสูบเสพ” และควรมีการเขียนถึง “ข้อห้ามใช้” หรือ “สถานที่ห้ามใช้” เพราะขณะนี้ตัวของกัญชามีสิ่งที่ถือเป็นยาเสพติด คือ สารสกัดของ THC ที่มีปริมาณมากกว่าร้อยละ 0.2
อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์เที่ยวล่าสุดของ น.พ. ชลน่าน ถึงขณะนี้ กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชาฯ เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากร่างเดิมมี 94 มาตรา ขณะนี้เหลือ 70 กว่ามาตรา แต่ในส่วนของรายละเอียดสาระสำคัญยังมีจำนวนมาก
โดยเฉพาะเรื่องมาตรการการควบคุม การอนุญาต อนุมัติ เช่น ผู้ที่จะปลูกกัญชา เดิมอนุญาตให้แค่ไปจดแจ้งเท่านั้น แต่ตอนนี้เห็นว่าเป็นสมุนไพรควบคุม ต้องมีการอนุญาต ใครจะปลูกก็ต้องได้รับอนุญาตให้ปลูก
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการใช้กัญชาผิดประเภท ถ้ามีการจดทะเบียนแคนาบิทช็อปแล้วก็อนุญาตให้ใช้ใบอนุญาตเดิมต่อได้ แต่จะใช้อะไรก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมหมด
ขณะที่คำถามที่หลายคนสงสัย ณ ตอนนี้ ที่ว่าจะมีการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมหรือไม่ ? นพ.ชลน่าน ตอบว่า “ไม่” โดยยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจกรรมการและเป็นประกาศกระทรวง ยังกำหนดให้สารทีเอชซี (THC) เกินร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่เป็นยาเสพติดอยู่
เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการนำช่อดอกกลับไปเป็นยาเสพติดใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ยังไม่มี” ส่วนที่จะยืนยันได้หรือไม่ว่า “ร้านจำหน่ายกัญชา” จะไม่ได้รับผลกระทบจาก (ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ นพ.ชลน่าน ระบุก็ต้องไปดูกฎหมายที่จะเขียนเอื้อประโยชน์ให้กับมิติของการแพทย์และสุขภาพ อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ผิดประเภทย่อมได้รับผลกระทบ จึงต้องไปดูในบทบัญญัติในกฎหมายต่อไปในอนาคต.
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข