สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

ประเภทยาเสพติด มียาอะไรบ้าง พร้อมลักษณะการออกฤทธิ์

เจาะลึก ประเภทยาเสพติด มียาอะไรบ้างที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แถมยังผิดกฎหมาย ตามการแบ่งเกณฑ์ พรบ. ยาเสพติดให้โทษ

ยาเสพติดเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ที่ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการกำหนดโทษทางกฎหมายเอาไว้อย่างรัดกุมแล้วก็ตาม วันนี้ไทยเกอร์จึงถือโอกาส พาทุกท่านไปรู้จักยาเสพติดแต่ละประเภท จากการแบ่งตามเกณฑ์การออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อจะได้ระวังภัยและดูแลคนใกล้ชิดอย่างถูกต้อง

ประเภทของยาเสพติด แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

ในปัจจุบันยาเสพติดได้ถูกแบ่งออกด้วยหลายเกณฑ์ โดยหนึ่งในนั้นคือเกณฑ์การออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. ประเภทกดประสาท

ยาเสพติดประเภทที่ออกฤทธิ์กดประสาท จะทำให้รู้สึกมึน ทั้งยังเฉื่อยชาด้านสมอง อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งยาที่ออกฤทธิ์ลักษณะนี้มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย และยากล่อมประสาท

2. ประเภทกระตุ้นประสาท

ยาเสพติดประเภทที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท จะทำให้รู้สึกตื่นตัว กระวนกระวายอยู่เสมอ โดยยาประเภทนี้ ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม โคเคน พวกยาม้า และยาขยัน

3. ประเภทหลอนประสาท

ยาเสพติดประเภทที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท จะทำให้เห็นภาพหลอน ผิดไปจากความเป็นจริง โดยยาประเภทนี้ ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี และ เห็ดขี้ควาย

4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน

ยาเสพติดประเภทที่ออกฤทธิ์ผสมผสาน จะทำให้ออกฤทธิ์ทั้งการกดประสาท กระตุ้นประสาท และหลอนประสาทในคราวเดียวกัน ซึ่งยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่ กัญชา

ประเภทยาเสพติด แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

ประเภทของยาเสพติด แบ่งตาม พรบ. เสพติดให้โทษ 2522

นอกจากจะมีการแบ่งยาเสพติดตามลักษณะการออกฤทธิ์แล้วนั้น ยาเสพติดยังมีการแบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ อีกด้วย โดยแบ่งได้ทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

1. ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1

ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 ได้แก่ เฮโรอีน แอลเอสดี แอมเฟตามีน หรือยาบ้า ยาอีหรือยาเลิฟ

2. ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2

ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 ยาเสพติดประเภทนี้ใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน

3. ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 3

ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 3 ยาเสพติดประเภทนี้มียาประเภทที่ 2 ปนอยู่ด้วย ซึ่งใช้ทางการแพทย์ได้ แต่จะมีบทลงโทษหากนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ได้แก่ ยาแก้ไอ (มีส่วนผสมโคเคอีน), ยาแก้ท้องเสีย (ฝิ่น), ยาระงับปวด เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน

4. ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 4

ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 4 ว่าด้วยสารเคมีที่ใช่ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 และ 2 ได้แก่ น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์, อะเซติลคลอไรด์ และสารคลอซูไดอีเฟครีน

5. ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5

ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 เป็นยาเสพติดที่ไม่ได้เข้าข่ายประเภทที่ 1 – 4 ได้แก่ ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืช กระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น

ประเภทยาเสพติด แบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ

นอกจากนี้แล้วยาเสพติดยังสามารถแบ่งประเภทได้เพิ่มเติมอีก 2 แบบ โดยแบบแรกจะเป็นการแบ่งตามแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) เช่น ฝิ่น กระท่อม กัญชา เป็นต้น และยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) ได้แก่ เฮโรอีน แอมเฟตามีน เป็นต้น

ประเภทยาเสพติด แบ่งตามแหล่งที่เกิด

ส่วนการแบ่งในอีกรูปแบบ คือการแบ่งตามองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้จำแนกยาเสพติดเป็นทั้งหมด 9 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • ประเภทฝิ่น/มอร์ฟีน ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เพทิดีน
  • ประเภทยาปิทูเรท ได้แก่ เซโคบาร์ปิตาล อะโมบาร์ปิตาล พาราลดีไฮด์ เมโปรบาเมท ไดอาซีแพม
  • ประเภทแอลกอฮอล ได้แก่ เหล้า เบียร์ วิสกี้
  • ประเภทแอมเฟตามีน ได้แก่ แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน
  • ประเภทโคเคน ได้แก่ โคเคน ใบโคคา
  • ประเภทกัญชา ได้แก่ ใบกัญชา ยางกัญชา
  • ประเภทใบกระท่อม
  • ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็นที เมสตาลีน เมลัดมอนิ่งกลอรี่ ต้นลำโพง เห็ดเมาบางชนิด
  • ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจาก ๘ ประเภทข้างต้น ได้แก่ สารระเหยต่าง ๆ เช่น ทินเนอร์ เบนซิน น้ำยาล้างเล็บ ยาแก้ปวด และบุหรี่

ประเภทยาเสพติดแบ่งตามองค์การอนามัยโลก

ทั้งนี้ยาเสพติดล้วนแต่ให้โทษต่อร่างกายของผู้เสพ ทั้งยังผิดกฎหมายทำให้มีโทษทั้งจำและปรับ ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจบุตรหลานและคนใกล้ชิด ให้อยู่ห่างไกลและรู้เท่าทันยาเสพติดจึงจะดีที่สุด.

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานชันสูตรสาธารณสุข

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button