ฝุ่น PM 2.5 จัดเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเทียบเท่า 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูยน์กลางของเส้นผมมนุษย์ เรียกได้ว่าเล็กจนขนจมูกที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถดักจับได้ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนี้เกิดมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการสะสมจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การก่อสร้าง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า รวมถึงก๊าญอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศ
จากมลภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของละอองฝุ่นเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอันตรายอื่น ๆ ที่เคลือบอยู่บนผิวหนังของฝุ่นเข้ามาอีกด้วย อาทิ สารปรอท สารโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง หากมนุษย์สูดดมฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียกับร่างกายอย่างมหาศาล
ผลกระทบทางร่างกายหากได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน
ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จนถึงอาการอักแสบแฝงในระบบอวัยวะจนเกิดอาการผิดปกติ แถมยังส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างผลกระทบที่ได้รับจากฝุ่น PM 2.5 มีดังนี้
1. ประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลง
ฝุ่นละอองจิ๋วจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพดีเป็นทุนเดิมหรือผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจ เนื่องจากปอดและระบบทางเดินหายใจผิดปกติ การดูดซึมออกซิเจนลดลง หากไม่ดูแลตัวเองอาจทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลงกายลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
2. ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง
เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อการทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจโดยตรง ฝุ่นละอองสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ หรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนปกติเป็นโรคหอบหืดได้เช่นกัน และอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดในเวลาต่อมา
3. ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมาก อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจของท่านมีปัญหา เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด และหายใจถี่ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจลดทอนประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเดินไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่การนอนที่อาจมีปัญหาได้ในอนาคต
4. ผลกระทบต่อสุขภาพจิต
นอกเหนือจากผลกระทบทางร่างกายแล้ว ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ไม่ควรมองข้าม หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่มากจนส่งผลต่อร่างกาย อาจทำให้คุณเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
โรคที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5
นอกจากผลกระทบที่อาจได้รับจากภาวะ PM 2.5 แล้วก็อย่ามองข้ามโรคอันตรายที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ สำหรับโรคที่มีโอกาสเกิดได้จากภาวะฝุ่น PM 2.5 มีดังนี้
1. โรคทางเดินหายใจและปอด
อย่างที่ทราบกันดีว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทางเดินหายใจและปอด เนื่องจากฝุ่นละอองสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว หากใครเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ และยังไม่รู้ตัวว่าสูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคมะเร็งได้ในที่สุด
2. โรคที่เกี่ยวกับสมอง
ฝุ่นละออง PM 2.5 นอกจากจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้าย หากฝุ่นละอองเกิดการสะสมในกระแสเลือดมากขึ้น จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว หากโชคร้ายเส้นเลือดของคุณอาจจะตีบหรือแตก และกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต หากร้ายแรงมากอาจทำให้คุณเสียชีวิต
3. โรคหัวใจ
การสูดมลพิษเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด หากมลพิษสะสมในร่างกายของคุณมาก ๆ อาจทำให้คุณมีอาการหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ นอกจากนี้หัวใจของคุณอาจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายเฉียบพลัน ถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
4. โรคผิวหนัง
อนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ที่มีสารประกอบจากคาร์บอนที่มีคุณสมบัติละลายได้ดีในน้ำมัน จึงสามารถผ่านเข้าไปยังเซลล์ผิวหนังได้ และจะเข้าไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับพวกผิวหนัง ทำให้เกิดริ้วรอย ผิวหมองคล้ำ เกิดจุดด่างดำรวมถึงเซลล์ผิวในระดับยีนอาจทำงานผิดปกติ ถือเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของโรคผิวหนังอักเสบ และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
5. โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาแดง
การสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่เยื่อบุตาจะทำให้เกิดการอักเสบ ตาแดง คันตาได้ หากอาการไม่รุนแรงจะสามารถหายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ หากนานกว่านั้นควรไปพบแพทย์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเช็กดูดี ๆ ว่ามีโรคแทรกซ้อนนอกเหนือจากเยื่อบุตาอักเสบหรือเปล่า
วิธีป้องกันและดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5
การป้องกันตัวเองและดูแลสุขภาพจาก PM 2.5 ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงเมื่อหายใจเข้าไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เคล็ดลับในการป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 มี 4 ข้อหลัก ๆ ที่ควรรู้ ดังนี้
1. ใช้หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ
หน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับการสวมใส่ในภาวะฝุ่น PM 2.5 ระบาด ได้แก่ หน้ากาก N95 และหน้ากากอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น หน้ากาก KF94 หน้ากาก KN95 หากไม่มีสามารถใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น ที่สำคัญควรสวมหน้ากากให้แนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง
การอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ส่งผลให้เราสัมผัสละอองฝุ่นได้โดยตรง ดังนั้น พยายามอยู่ในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพื่อลดโอกาสการสูดดมฝุ่น
3. เปิดเครื่องฟอกอากาศเป็นประจำ
อีกหนึ่งวิธีการดูแลสุขภาพตนเองจากมลภาวะฝุ่นละออง คือการเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ดี เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่อยู่ในบ้าน แต่อย่าลืมปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และหมั่นดูแลเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองได้อย่างมีคุณภาพ
4. บริหารปอดก่อนนอน
การบริหารปอดก่อนนอนจะช่วยให้สุขภาพปอดของเราแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทุกคืน เพียงแค่หายใจให้ถูกวิธี ตอนหายใจเขาให้ยกอกขึ้นและกดกระบังลมให้ต่ำลง เมื่อหายใจออกจะเป็นการคลายกล้ามเนื้อหน้าอก และยกกระบังลงขึ้นเพื่อไล่อากาศออกจนหมด หายใจเข้า 10 วินาที หายใจออก 10 วินาที ทำ 10 รอบ 3 เซตก่อนนอนเป็นประจำ
จะเห็นได้ว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียกับร่างกายของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากสะสมเข้าไปในร่างกายมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคร้ายได้ หากท่านกังวลว่าโรคต่าง ๆ และผลกระทบที่แสนน่ากลัวจะมาทำร้ายสุขภาพของท่าน ก็อย่าเพิ่งกังวลใจกันไป อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ลดการทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งในเวลานาน และอย่าลืมเช็กสภาพอากาศก่อนเดินทาง หมั่นบริหารปอดเป็นประจำ และดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ทุกท่านก็จะปลอดภัย ห่างไกลจากฝุ่น PM 2.5 กันแล้ว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- จะเกิดอะไรขึ้น! หากสูด PM 2.5 ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี มีผลกระทบอะไรบ้าง
- 6 วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ป้องกันตัวเอง ในช่วงวิกฤติหมอกควัน
- รีวิว ‘IQAir: AirVisual’ แอปเช็กคุณภาพอากาศ ตรวจค่าฝุ่น PM 2.5 ฟรี