ราหูอมจันทร์ วันออกพรรษา 29 ต.ค. 66 วิธีดูจันทรุปราคา แบบชัดๆ

คนรักดาราศาสตร์ห้ามพลาด เตรียมรับชมจันทรุปราคาบางส่วน (ราหูอมจันทร์) ช่วงวันออกพรรษา วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เปิดวิธีสังเกต ที่มาของปรากฏการณ์ และประเภทของจันทรุปราคา
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ช่วงปลายปีนี้ มีมาให้ทุกท่านได้รอชมกันอีกแล้ว วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ราหูอมจันทร์ หรือจันทรุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย โดยจะเกิดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา หรือวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 02.35 – 03.52 น.
ในเช้าวันออกพรรษา จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สังเกตได้ในช่วงเช้ามืด บริเวณทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติกา รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
วิธีสังเกตจันทรุปราคา
ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.01 – 05.26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01.01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก
จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.35 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์เต็มดวงจะค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 03.52 น. รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนาน 1 ชั่วโมง 17 นาที จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาโดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 05.26 น.
ลักษณะการเกิดจันทรุปราคา
จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดเฉพาะวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือในช่วงข้างขึ้น 14 – 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ
ประเภทของจันทรุปราคา
จันทรุปราคามีการแบ่งประเภทตามลักษณะการเคลื่อนผ่านของดวงจันทร์ เนื่องจากผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ กรณีที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง หากเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกบางส่วน เรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วน และเคลื่อนผ่านเฉพาะส่วนที่เป็นเงามัวของโลก เรียกว่า จันทรุปราคาเงามัว ซึ่งสังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือราหูอมจันทร์ที่จะสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568 ส่วนท่านใดที่ไม่อยากพลาดรอบนี้ สามารถรับชมราหูอมจันทร์ได้ โดยสามารถติดตาม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อ้างอิง : Facebok NARIT
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง