ชวนปฏิบัติตนตาม หลักธรรมวันออกพรรษา หรือ ปวารณา เพื่อยกระดับจิตใจให้เปิดกว้างทางความคิด สานต่อบุญกุศลตามตำสอนของพระพุทธเจ้า
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับวันออกพรรษา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ทำให้ชาวพุทธหลายครอบครัวมีเวลาทำบุญร่วมกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่รู้กันหรือไม่ว่า นอกจากจะต้องทำบุญตักบาตรเทโวในวันออกพรรษาแล้วนั้น ชาวพุทธยังควรน้อมหลักธรรมวันออกพรรษาอย่าง ปวารณา ไปปรับใช้กันด้วยนะ เพราะการปวารณาจะช่วยให้ท่านเปิดกว้างทางความคิด มองเห็นความผิดพลาดของตัวเอง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขนั่นเอง
ปวารณา หลักธรรมสำคัญในวันออกพรรษา
วันออกพรรษา ถือเป็นวันที่สิ้นสุดฤดูจำพรรษา 3 เดือน และเป็นวันพระใหญ่ที่ประชาชนจะรวมตัวกันทำบุญในวัดดัง ตลอดจนเข้าร่วมพิธีตักบาตรเทโว ซึ่งในอดีตเชื่อกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา
หลักธรรมปวารณา สำหรับชาวพุทธ
ความจริงแล้ววันออกพรรษา มีอีกชื่อเรียกหนึ่งนั่นก็คือ “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” ซึ่งหมายถึงวันที่พระสงฆ์จะทำการปวารณา เพื่อให้เพื่อนภิกษุสงฆ์ท่านอื่นสามารถว่ากล่าวตักเตือนตนได้
ทั้งนี้ชาวพุทธเองก็สามารถน้อมนำหลักคำสอนในการปวารณา มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน เพราะถือเป็นการเปิดรับความคิดเห็นผู้อื่น เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงตัวเอง โดยไม่ยึดถือมาเป็นความขุ่นเคืองใจ เพื่อยกระดับจิตใจของตนเอง ให้สามารถทำงานและอยู่กับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขมากยิ่งขึ้น
สำหรับการปวารณา สามารถทำได้ในหลายมิติของสังคม ทั้งสังคมครอบครัว สังคมโรงเรียน สังคมการทำงาน และสังคมชุมชน ซึ่งถือเป็นการเปิดรับุมมองใหม่ ๆ ที่ผู้อื่นมีต่อตัวเอง ทั้งยังสร้างความสามัคคีให้แน่นแฟ้นขึ้นได้อีกด้วย จึงจะเห็นได้ว่าหลักธรรมปวารณาจะต้องแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
- ผู้ว่ากล่าวตักเตือน : จะต้องมีความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ถูกตักเตือน และต้องมีจิตเมตตามองเห็นธรรม ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
- ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน : จะต้องมีใจที่เปิดกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ที่ว่ากล่าวตักเตือน พร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ และปรับปรุงตัวเสมอ
ประเพณีสำคัญในวันออกพรรษา 2566
นอกจากหลักธรรมปวารณาแล้ว ในวันออกพรรษาชาวพุทธยังมีประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานอีกอย่าง นั่นก็คือประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
ชาวพุทธเชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา จึงได้เตรียมอาหารมาไว้ใส่บาตร โดยนิยมทำเป็นข้าวต้มลูกโยน เพื่อใช้เป็นภัตตาหารมาถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ด้วยการชุมนุมกันที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน จึงปรับเปลี่ยนจากการใส่บาตรธรรมดา เป็นโยนใส่บาตรนั่นเอง
นอกจากนี้ชาวพุทธยังมีการทำพิธีทอดกฐินในวันออกพรรษาด้วย ซึ่งจะเริ่มหลังจากสิ้นสุดวันออกพรรษาไปราว 1 เดือน โดยจะยึดตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 นั่นเอง
อ้างอิง chumporn101.go.th
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
- รู้หรือไม่ ‘ตักบาตรเทโว’ ไม่ได้ตรงกับ ‘วันเข้าพรรษา’ เช็กให้ชัวร์ อย่าเผลอเข้าใจผิด
- วันออกพรรษา 2567 ตรงกับวันไหน เปิดประวัติวันพระใหญ่ เทศกาลบุญบั้งไฟ