อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ความเชื่อเรื่องการกินเจ ตอบทุกคำถาม กินแล้วได้บุญไหม ทำไมต้องล้างท้อง

รวมสารพัดความเชื่อเรื่องการกินเจ ทั้งเรื่องอาหารการกิน กินแล้วได้บุญไหม ช่วยให้สุขภาพดีหรือเปล่า พร้อมส่องความเชื่อจากพิธีกรรมช่วงเทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ หรือภาษาจีนเรียกว่า เจี๊ยะฉ่าย เทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ตามปฏิทินจันทรคติจีนนั้นจะเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ไปจนถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน สำหรับปี 2566 อยู่ระหว่างวันที่ 15 – 23 ตุลาคม เป็นเทศกาลที่ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จะได้เว้นจากการทำบาป งดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม

การกินเจ มีกฎและข้อห้ามมากมายหลายประการ ทั้งห้ามรับประทานผักฉุน ต้องล้างท้องก่อนกินเจ รวมถึงความเชื่อเรื่องการกินเจ ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องอานิสงส์ผลบุญ และมีความเชื่อจากพิธีกรรมในเทศกาลกินเจอีกด้วย

พิธีกรรมไหว้เจ้าช่วงกินเจ

ต้องล้างท้องก่อนกินเจ

การเตรียมความสำหรับเทศกาลกินเจ นอกจากเตรียมใจให้พร้อม เพราะต้องงดเว้นเนื้อสัตว์ และหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทแล้ว สิ่งสำคัญคือการล้างท้องก่อนกินเจ ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน ผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์ ถือเป็นผู้ที่อยู่ในศีลในธรรม เพราะปฏิบัติตามศีลข้อที่ 1 คือห้ามฆ่าสัตว์

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่า ก่อนเริ่มต้นถือศีลกินเจ ควรชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ โดยผู้ที่กินเจต้องล้างท้อง เพื่อให้ร่างกายขับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ออก คล้ายกับว่าร่างกายบริสุทธิ์ไร้มลทินอย่างแท้จริงนั่นเอง

แม้ผู้คนบางส่วนจะเชื่อว่าการล้างท้องก่อนกินเจทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ รับบุญได้เต็มที่อย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันมีเหตุผลด้านสุขภาพมารองรับแทน ข้อมูลจากกรมอนามัยฯ เปิดเผยว่า ควรล้างท้องก่อนกินเจอย่างน้อย 2 วัน เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสภาพ เนื่องจากการรับประทานอาหารเจเป็นการตัดเนื้อสัตว์และไข่โดยสิ้นเชิง

การล้างท้องก่อนกินที่ถูกต้อง ควรเริ่มจากการปรับเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารให้น้อยลง และเพิ่มปริมาณผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายเริ่มปรับตัว กระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การออกเจในช่วง 2 วันแรก ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น นม เนื้อปลา ไข่ เพื่อให้ร่างกายกลับมารับสารอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร

การล้างท้องก่อนกินเจ เป็นความเชื่อชาวพุทธจริง แต่ถึงกระนั้นก็ช่วยปรับสมดุลร่างกาย เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารเจได้โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือเกิดปัญหากับระบบย่อยอาหารในภายหลัง เนื่องจากร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน การตัดอาหารบางประเภทออกไปแบบทันที อาจส่งผลให้เกิดผลเสีย เช่น เวียนหัว หรือท้องเสียได้

กินเจแล้วสุขภาพดี

การกินเจมีข้อห้ามเรื่องอาหารค่อนข้างมาก นอกจากเนื้อสัตว์แล้วยังห้ามรับประทานผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น กุยช่าย ผักชี เนื่องจากเชื่อว่ามีรสหนัก มีกลิ่นรุนแรง มีสารพิษที่ทำลายธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ได้แก่ หัวใจ ปอด ม้าม ตับ และไต ส่งผลให้อวัยวะทำงานไม่ปกติ

อาหารที่รับประทานได้ในเทศกาลกินเจส่วนใหญ่ เชื่อว่าไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและกากใยอาหาร จากผักนานาชนิดที่สามารถรับประทานได้ในช่วงถือศีลกินเจ ช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเรื่องระบบการขับถ่าย ทำให้ใครหลาย ๆ คนอาจคิดว่า การกินเจ นอกจากจะเป็นการทำบุญแล้ว ยังเป็นการลดน้ำหนักอีกทางหนึ่งด้วย

คิดเช่นนั้นก็ไม่ผิดนัก เนื่องจากเมนูเจหลายเมนูก็อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไฟเบอร์ จากถั่ว ผัก เต้าหู้ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย แต่เมนูอาหารเจบางอย่างกลับให้ผลตรงกันข้าม หากเราเลือกรับประทานในแบบที่ไม่หลากหลาย

ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงกินเจเลือกรับประทานแต่เต้าหู้ทอด เมนูผัด หรืออาหารจำพวกแป้ง อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน อีกทั้งยังได้รับสารอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรต มากกว่าตอนรับประทานอาหารแบบปกติ นอกจากจะไม่ทำให้สุขภาพดีแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่าย ๆ อีกด้วย หนทางสู่ความผอมอย่างสุขภาพดีจากการกินเจคงจะริบหรี่ลงไปไม่น้อย

ดังนั้นแล้ว ความเชื่อที่ว่ากินเจแล้วสุขภาพดีนั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกรับประทานอาหาร ผู้ที่กินเจควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย เน้นผักผลไม้ เน้นโปรตีนจากถั่วเหลืองในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกรับประทานเมนูผัดหรือต้มแทน เพียงเท่านี้ก็หมดปัญหาเรื่องอ้วน ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้นตามไปด้วย

อาหารเจ ประเภททอด

กินเจแล้วได้บุญ

การกินเจมีข้อห้ามเรื่องอาหารค่อนข้างมาก ทั้งห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ห้ามรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม ผักชี กุยช่าย นอกจากนี้ผู้ที่กินเจต้องอยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล 8 ปฏิบัติตนในทางที่ดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ ตลอดระยะเวลาการกินเจ

ภาชนะหรือของใช้ต่าง ๆ หากเคร่งมาก ๆ ต้องแยกใช้จากผู้ที่ไม่กินเจ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเนื้อสัตว์ ไข่ นม หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้ผู้กินเจเกิด “เจแตก” ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กินเจจึงถือว่ามีพลังใจสูง เพราะต้องตั้งมั่นอยู่ในกฎเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติอยู่เสมอ คล้ายกับการรักษาศีลของพระสงฆ์เลยก็ว่าได้

ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แน่นอนว่าการกินเจย่อมได้บุญอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นละเว้นการสร้างกรรม เบียดเบียนสัตว์โลก และตรงกับศีลข้อที่ 1 คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่เชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้กระทำมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว

การกินเจจึงถือเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา หากกระทำด้วยความตั้งใจและบริสุทธิ์ใจที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ การกระทำเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แม้ผลบุญอาจไม่ทันตาเห็น แต่ผู้กระทำย่อมได้รับสิ่งดี ๆ กลับมาแน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล และขึ้นอยู่กับหลักคำสอนของแต่ละศาสนา

พิธีกรรมเทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของปี นอกจากจะเป็นช่วงที่ผู้คนอยู่ในศีลธรรมอันดี ละเว้นจากอบายมุข และการสร้างบาปกรรมแล้ว ยังเป็นเทศกาลที่มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไหว้เจ้าเพื่อขอพร การแห่องค์เทพ หรือกิจกรรมที่น่าหวาดเสียวอย่างการลุยไฟ หรือม้าทรงงานกินเจ ที่นำของมีคมแทงปาก หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

เริ่มจากพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลกินเจ ตามความเชื่อและความศรัทธาที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน ผู้คนเชื่อว่าเป็นการชำระล้างสิ่งอัปมงคล หรือสิ่งที่ไม่ดีออกจากตนเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต

พิธีจะเริ่มจากการก่อกองไฟ โดยมีร่างทรงเป็นผู้ตัดยอดนำลุยไฟ ตามด้วยองค์พระอื่น ๆ โดยบางพื้นที่ได้เปิดให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธา ทั้งหญิงและชาย ได้ร่วมลุยไฟเพื่อความเป็นสิริมคงคลแก่ตนเอง ยกเว้นสตรีมีครรภ์และสตรีที่มีประจำเดือน จะไม่สามารถจะเข้าร่วมลุยไฟได้

อีกหนึ่งความเชื่อในช่วงกินเจคือ ม้าทรง โดยมีทั้งม้าทรงเพศชายและเพศหญิง เชื่อว่าสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือปาฏิหาริย์ได้ เนื่องจากเทพเจ้าเลือกมาประทับร่าง เพื่อต่อดวงชะตาให้คนที่ชะตาขาด หรือดวงยังไม่ถึงคาด ให้สามารถรอดพ้นจากความตาย ถือเป็นตัวแทนขององค์เทพช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

ม้าทรงในเทศกาลกินเจจะแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เช่น นำของแหลม ของมีคม ดาบ ขวาน มีด เหล็กแหลม แทงตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งแก้ม ลิ้น ปาก หลัง หรือแขน เชื่อว่าเป็นการรับเคราะห์กรรมและความโชคร้ายแทนผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ร่วมเทศกาลกินเจ

การแสดงลุยไฟและม้าทรง นอกจากจะเป็นความเชื่อของการกินเจแล้ว ยังเป็นการแสดงรูปแบบหนึ่งที่กระตุ้นการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทำให้นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากเดินทางมารับชมด้วยตาตนเอง แต่เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อตัวผู้แสดง และควรใช้วิจารณญาณในการรับชมด้วย

แม้การกินเจจะเป็นเทศกาลงานบุญของชาวไทยเชื้อสายจีน แต่ก็ปรากฏความเชื่อเรื่องการกินเจที่สอดคล้องกับสังคมไทย เนื่องจากเชื่อมโยงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ บางความเชื่อในปัจจุบันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเชื่อของผู้กระทำเองด้วยเช่นกัน

จุดประทัด ช่วงกินเจ

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button