เข้าใจ “พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก” ภัยเงียบที่อาจส่งผลต่อ นิสัยรุนแรง
รู้เท่าทัน ‘พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก’ ภัยเงียบใกล้ตัว ที่พ่อแม่หลายคนอาจมองข้าม และอาจส่งผลเสียต่อบุตรหลานของคุณเกินคาดคิด
‘วัยเด็ก’ คือ ช่วงอายุสำคัญแห่งการเติบโต การจดจำ และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบใหญ่ ทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด อุปนิสัย พฤติกรรม รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิต หากช่วงเวลาในวัยเด็กของเด็กคนหนึ่งไม่ได้รับการใส่ใจดูแลอย่างเต็มที่และได้รับการอบรมอย่างเพียงพอ ในภายภาคหน้าผลของเติบโตในวัยเด็กจากการปล่อยปะละเลยของผู้ปกครองอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของเหล่าปัญหาที่ยากเกินแก้ไข
นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทุกคน ควรศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่เกิดขึ้นจากช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของเด็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ ‘เด็ก’ ได้สังเกตพฤติกรรมของเหล่าคนใกล้ชิด อาจเป็นได้ทั้งสมาชิกในครอบครัว คนที่เด็กใช้เวลาร่วมด้วย หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่เด็กพบเห็นในชีวิตประจำวันก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพฤติกรรมของผู้คนเหล่านั้นสัมพันธ์กับอารมณ์ของเด็ก แนวโน้มของการจดจำและลอกเลียนแบบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยและสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก ดังต่อไปนี้
ไขสงสัย “พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก” เกิดจากอะไร?
พฤติกรรมการเลียนแบบสามารถอธิบายตามแนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาของบันดูราได้ว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากนั้น เริ่มต้นจากการสังเกตจนนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมลอกเลียนแบบ เหตุเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา
การรับเอาพฤติกรรมบางรูปแบบจากหลากหลายบุคคลจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเต็มไปด้วยความไร้เดียงสา และปราศจากการไตร่ตรองถึงความเหมาะสม อาทิ การลอกเลียนพฤติกรรมความรักสวยรักงาม การใส่รองเท้าส้นสูง หรือแม้แต่การแต่งหน้าทาปาก จากผู้เป็นแม่ ที่ถึงแม้ว่าการกระทำเหล่านั้นจะไม่ใช่การแสดงออกของเพศชาย ตามที่บรรทัดฐานของสังคมกำหนดไว้ก็ตาม
พฤติกรรมการลอกเลียนมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กจะเริ่มต้นจดจำพฤติกรรมเหล่านั้นตั้งแต่อายุ 2-6 ปี อันเป็นวัยที่เด็กจะสามารถจดจำได้ดี อีกทั้งยังมีเป็นวันที่เกิดการเรียนรู้ที่จะสร้างบุคลิกภาพของตนเอง ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรมของเหล่าคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบการกระทำ การแสดงออก คำพูด ท่าทาง และอารมณ์
การลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากบุคคลรอบตัวนั้น มีทั้งพฤติกรรมที่ส่งผลระทบในด้านดีและในด้านลบ อย่างไรก็ดีการจดจำจนนำไปสู่กาารเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็กจะขึ้นอยู่กับว่า เด็กคนนั้น ๆ จะรับเอาหรือซึมซับพฤติกรรมที่ดีมาได้มากน้อยเพียงใด และนำไปปรับใช้กับตัวเองได้อย่างถูกต้องอย่างที่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนต้องการหรือไม่
ซึ่งช่วงเวลาแห่งการเติบโตนี้เองการได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะการอบรมสั่งสอนของผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กที่ไร้เดียงสาสามารถแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมที่ดีเป็นแบบใด และพฤติกรรมที่ไม่ดีเป็นแบบใด สิ่งใดสามารถนำไปเลียนแบบได้ และสิ่งใดไม่ควรลอกเลียนแบบ อันจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคตต่อไป
4 พฤติกรรม ที่อาจส่งผลต่อการเลียนแบบในเด็ก
ทั้งนี้ พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็กที่ผู้ปกครองควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการแสดงออกต่อหน้าเด็ก เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ และลดความเสี่ยงของการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจนำไปสู่การก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตนั้น มีทั้งหมด 4 พฤติกรรมสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. พฤติกรรมก้าวร้าว
การแสดงท่าทางก้าวร้าว ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางคำพูด หรือแม้แต่การกระทำ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอย่างมาก ซึ่งเด็กจะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อสถานการณ์นั้น ๆ มีปัจจัยทางด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเด็กอาจซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าวมากจากผู้ปกรอง ทั้งการทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของ การใช้ถ้อยคำรุนแรง และเมื่อเด็กพบเห็นสิ่งเหล่านั้นจนเกิดความเคยชิน ในภาคภายหน้าหากต้องเผชิญกับสถานการณืที่คล้ายคลึงกันนี้ ก็เป็นไปได้ว่าเด็กจะท่าทีก้าวร้าว
2. พฤติกรรมสนใจในสื่อที่มีความรุนแรง
พฤติกรรมการสนใจสื่อที่มีความรุนแรง เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เหตุเพราะโซเซียลส่งอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อีกทั้งสื่อรุนแรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อลามก อาวุธ การพนัน และการใช้ความรุนแรง ยังสามารถพบเห็นได้ไม่ยากนักในปัจจุบัน หรือบางทีการสนใจในสื่อที่มีความรุนแรงของเด็กอาจเกิดจากรสนิยมส่วนตัวของเด็ก อย่างไรก็ดีการอบรมสั่งสอน และการให้คำแนะนำก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถช่วยยับยั้งพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่ไม่ดีเหล่านั้น
3. พฤติกรรมการพูดโกหก
พฤติกรรมการพูดโกหกเป็นไปได้ว่าอาจเริ่มต้นจากการเรียนรู้ว่า เมื่อทำเช่นนี้แล้วจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและทำให้ปัญหาเหล่านั้นจบสิ้นลงได้ ผ่านการซึมซับจากพฤติกรรมของผู้ปกครอง อย่างไรก็ดีการอธิบายอย่างตรงไปตรงมาถึงเหตุและผลของการกระทำจะสามารถช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจ และไม่ลอกเลียนแบบพฤติกรรมการพูดโกหก
4. พฤติกรรมการลักขโมย
การลักขโมยของหรือการฉกฉวยสิ่งของที่ไม่ใช่ของตน อาจเกิดขึ้นจากการพบเห็นผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ตัวแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น อาทิ การหยิบสิ่งของของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้ขออนุญาต บางทีการกระทำที่บางคนอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากเด็กไม่ได้รับการชี้แนะที่ถูกที่ควร เป็นไปได้ที่เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็กที่ได้กล่าวไปจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น การดูแลเอาใจใส่อย่างเพียงพอและการอบรมสั่งสอนจากผู้ปกครองเป็นหนึ่งหนทางในการช่วยยับยั้งการเกิดขึ้นของพฤติกรรมที่ไม่ดีในเด็ก ที่อาจไปนำสู่การก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งจะช่วยขัดเกลาและปลูกฝังความพฤติดีให้กับเด็กในช่วงวัยแห่งการเติบโต
- เปิด ‘บทลงโทษ’ ทางกฎหมายของเด็กและเยาวชน ผู้เยาว์กระทำผิดต้องรับโทษอย่างไร
- “ท่านอ่อง” ชี้สาเหตุมือปืนวัย 14 อุกอาจยิงในพารากอน ย้ำต้องเข้าใจต้นตอปัญหา
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท