ไลฟ์สไตล์

ชวนรู้จัก ‘Femicide’ หนึ่งในพฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

ชวนรู้จัก ‘Femicide’ หนึ่งในพฤติกรรมความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ (GBV) ความรุนแรงที่มุ่งทำร้ายเหยื่อ ‘ผู้หญิง’ หนึ่งในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง ที่อาจเป็นภาพสะท้อนความไม่เสมอภาคทางเพศ

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ข่าวคราวการตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการถูกมุ่งร้าย การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การฆาตกรรมก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ และในหลายครั้งหลายคราเหตุการณ์เหล่านั้นก็ได้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจและนำไปสู่การเกิดขึ้นของความรู้สึกหวาดกลัวให้กับเพศหญิงอยู่ไม่น้อย

เช่นนั้นแล้ว หากจะกล่าวว่า การตกเป็นเหยื่อของเพศหญิงในเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งของ “Gender-Based Violence (GBV) : พฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ” ก็คงจะไม่ผิดนัก เหตุเพราะความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นการอธิบายถึงปัจจัยทางเพศสภาพของบุคคลนั้น ๆ อันนำไปสู่การตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ กล่าวคือ เหยื่อถูกกระทำความรุนแรงเพราะเพียงเป็นเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่ง ไม่ว่าจะเพศหญิง เพศชาย หรือ LGBTQAI+พฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

เปิดความหมาย ‘Femicide’

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้รายงานอัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมในผู้หญิงไว้ว่า ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กทั่วโลกมากถึง 81,100 คน ตกเป็นเหยื่อเหตุฆาตกรรมโดยเจตนา ทั้งนี้ เด็กและผู้หญิงจำนวนกว่า 45,000 หมื่นคน หรือประมาณ 56% เสียชีวิตด้วยการก่อเหตุจากคนรัก คนสนิท รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัว หากเฉลี่ยอัตราการเกิดเหตุในทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆาตกรรมโดยคนใกล้ชิด

‘Femicide’ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ที่กล่าวถึงการตกเป็นเหยื่อของ ‘เพศหญิง’ ซึ่งทางองค์กรอนามัยโลกได้ให้คำนิยาม Femicide ไว้ว่า เป็นพฤติกรรมที่มีเจตนาฆาตรกรรมผู้หญิงเพียงเพราะเธอเหล่านั้นมีเพศสภาพเป็น ‘เพศหญิง’ อีกทั้งพฤติกรรมเช่นนี้มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการก่อเหตุ ทั้งนี้ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มเป็นเพศชาย เพราะหากเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าโดยคนเพศเดียวกันจะไม่นับว่าเป็น Femicide

ในส่วนของประเภทความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ พฤติกรรมที่มีเจตนาฆาตรกรรมผู้หญิง ‘Femicide’ นั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ บทบาททางเพศที่สังคมคาดหวังและเหมารวม พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศที่ไม่เสมอภาคกันในเพศหญิงและเพศชาย และรวมไปถึงบรรทัดฐานทางสังคมบางประการ ที่ได้หล่อหลอมมาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่

พฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

เพราะเป็น ‘ผู้หญิง’ จึงตกเป็นเหยื่อ

เพราะเป็น ‘ผู้หญิง’ จึงตกเป็นเหยื่อ” เหตุที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะอิทธิพลของชุดความคิด ทัศนคติ และค่านิยมต่อเพศหญิงบางประการที่หยั่งรากลึกลงไปในความคิด ความเชื่อของผู้คนในสังคม ซึ่งได้ส่งผลให้คนบางกลุ่มรู้สึกได้ถึงอำนาจที่เหนือกว่าของตน เมื่อเทียบกับเพศหญิง จากนั้นจึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของการตอบสนองต่อความคิดที่เต็มไปด้วยการกดขี่ การดูถูก การเหยียดหยามเพศหญิง ผ่านทางคำพูด การกระทำ การใช้ความรุนแรง รวมไปถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ‘การฆาตกรรม’

ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จำแนกประเภทความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ที่มักเกิดขึ้นกับเพศหญิง ไว้ดังนี้

  1. ความรุนแรงในครัวเรือน : องค์การสหประชาชาติระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของสามี คนรัก หรือแม้แต่อดีตคนรัก โดยผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปกว่า 640 ล้านคน เคยเผชิญกับการถูกกระทำความรุนแรงทางกาย หรือความรุนแรงทางเพศมาแล้ว
  2. Femicide : การฆาตกรรมเพศหญิง ที่มีเจตนามุ่งแสดงพฤติกรรมความรุนแรงกับเพศหญิงโดยเฉพาะ ในหลายครั้งหลายคราที่การก่อเหตุเกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์ เพื่อรักษาเกียรติ (Honor Killing) ซึ่งเป็นการฆาตกรรมสมาชิกเพศหญิงในครอบครัว โดยสมาชิกเพศชายในครอบครัว จากความคิดที่จะ ‘รักษาเกียรติของวงศ์ตระกูล’
  3. การคุกคามทางเพศ : บ่อยครั้งที่สังคมมักมองว่าการคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่โรแมนติก เป็นต้นว่า เรื่องราวของตักละครหลักในภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เริ่มต้นจากการบังคับขืนใจ แต่ในท้ายที่สุดกลับกลายเป็นความรัก ซึ่งแท้จริงแล้วการกระทำเช่นนี้กลับส่งผลสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน
  4. ความรุนแรงอื่น ๆ : การค้ามนุษย์ การบังคับเข็ญใจให้เด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันควร รวมไปถึงภัยความรุนแรงจากโลกออนไลน์

ชวนรู้จัก 'Femicide' หนึ่งในพฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

สุดท้ายนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘Femicide’ เป็นหนึ่งในภัยความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง โดยการฆาตกรรมเพศหญิง ที่เต็มไปด้วยเจตนามุ่งทำร้ายเพศหญิง อันได้สะท้อนภาพความไม่เสมอภาคทางเพศที่หลอมรวมขึ้นจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ อันถูกยึดโยงไว้ด้วยบทบาททางเพศระหว่างเพศชายและเพศหญิงในสังคม

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button