เปิดบริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด เพิ่ม 24 โรค หัวอกแม่ต้องดู ตรวจเร็ว-รู้เร็ว-รักษาง่าย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดให้บริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด เพิ่ม 24 โรค เพื่อป้องกันภาวะสติปัญญาบกพร่อง ความพิการ หรือการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด
การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด คือ การตรวจคัดกรองภาวะหรือโรคบางอย่างที่เป็นตั้งแต่กำเนิด แต่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อให้ทารกได้รับการตรวจวินิจฉัยได้ก่อนมีอาการ และได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถป้องกันภาวะสติปัญญาบกพร่อง ความพิการ หรือการเสียชีวิตในทารกหรือวัยเด็ก
การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดในไทย ได้ริเริ่มขึ้นโดยมีการตรวจคัดกรอง 2 โรค ด้วยกันคือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด (Congenital hypothyroidism; CHT) และโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria; PKU) โดยศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในปี พ.ศ. 2565 ได้ขยายการตรวจคัดกรองกลุ่มโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก (Inborn errors of metabolism; IEM) จำนวน 24 โรค พร้อมทั้งบรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์กระบวนการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด ประกอบด้วยการตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัยยืนยันและการส่งต่อรักษา จำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับเป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดคือ “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ผลการรักษาดี สติปัญญาดี” เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี มีสติปัญญาดี ลดความพิการและเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก และยังเป็นการช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในแต่ละปีอีกด้วย
ทั้งนี้ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด(CHT) ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 14 วัน โรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก (IEM) ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 7 วัน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาศักยภาพและขยายหน่วยบริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคตามเขตสุขภาพ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและเป็นธรรมสำหรับเด็กไทยแรกเกิดทุกราย ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นนทบุรี รับผิดชอบเขตสุขภาพที่ 3, 6 และ 13 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 10 อุบลราชธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 11 สุราษฎร์ธานี รับผิดชอบเขตสุขภาพที่ 1, 10 และ 11 ตามลำดับ ร่วมกับศูนย์การดูแลรักษาโรคหายาก (IEM) อีก 7 แห่ง ที่ร่วมกันรับผิดชอบครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 13 เขตสุขภาพ โดยเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
โรงพยาบาลสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 📞โทร. 02-9510000 ต่อ 99227, 99297 หรือ 📞090-1976476-7, 084-4382279.
- เด็กแรกเกิดต้องรอด โครงการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทารกแรกเกิดที่แม่ติดเชื้อโควิด-19
- เตือน ใส่ face shield ให้ทารกแรกเกิด เกิดอันตรายต่อระบบประสาท
- เงินอุดหนุนบุตร กันยายน 2566 โอนเข้าบัญชี 18 ก.ย. นี้