เศรษฐกิจ

ธปท. ชี้แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รูปแบบไม่ชัดเจน ไม่สนับสนุนออกเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท รูปแบบยังไม่ชัดเจน แนะควรทำเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ให้ทุกคน

วันที่ 15 กันยายน 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยหลังจากได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ พร้อมกับยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงข้อระมัดระวังของ ธปท. ว่าไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพหลายมิติ โดยที่กังวลเป็นพิเศษ คือ เสถียรภาพการคลัง ธปท.จึงต้องดำเนินนโยบายเสถียรภาพอยู่

ขณะเดียวกันในส่วนของนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปล่าสุดนั้น นายเศรษฐพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการธปท. ระบุว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองยังมองถึงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพซึ่งยังต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เนื่องจากถึงตอนนี้ยังขาดความชัดเจน

เงินดิจิทัล 10000 ล่าสุด
แฟ้มภาพ (Cr. Facebook @pheuthaiparty)

ทำไม เงินดิจิทัล งบ 5.6 แสนล้านบาท ยังขาดความชัดเจน ?

เหตุผลโดยอ้างอิงจากการออกมาเคลื่อนไหวล่าสุดจากฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุถึง 2 ประเด็หลัก ๆ ที่ทำให้มีผลมองว่า การแจกเงินที่กำลังได้รับการจับตามองอย่างมากนี้ จึงยังไม่สะเด็ดน้ำเท่าไหร่ในสายตาหน่วยงานซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหาร ดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ทั้งในและต่างประเทศ

  1. เงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ยังขาดความชัดเจน ถ้าออกมาเป็น digital asset ก็ไม่สนับสนุนเพราะจะเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อเสถียรภาพ
  2. ถ้าเป็นอี-มันนี่ ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร”
เป๋าตัง เงินดิจิทัล
แฟ้มภาพ

แล้วเรื่องมาตรการพักหนี้ ธปท. คุยเศรษฐาแล้ว ผลยังไง ?

ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการพักชำระหนี้ ทางเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าธปท. ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่า ปัจจุบันขึ้นอยู่กับรูปแบบที่รัฐบาลตั้งเป้าจะทำ แต่ส่วนของธนาคารเองมองว่าการพักหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลักและไม่ควรเป็นวงกว้างซึ่งได้แสดงความกังวลต่อรัฐบาลไป การพักหนี้ในวงกว้างไม่เหมาะสม แต่จำเป็นในช่วงจังหวะเหมาะสมชั่วคราว เช่น ช่วงโควิดถูกล็อกดาวน์เพราะได้รับผลกระทบ ซึ่งการพักหนี้ทุกคนไม่เหมาะเพราะผลข้างเคียงเยอะ หนี้เกษตรกรบางกลุ่มมีศักยภาพ ปิดจบหนี้ได้ ชำระแล้วให้มีแรงจูงใจทำต่อ

แต่บางกลุ่ม ธปท. เผยว่าหนี้เกษตรกรกลุ่มนี้จะเป็นหนี้เรื้อรังปิดจบยาก ซึ่งก็ได้แสดงความเป็นห่วงไปยังรัฐบาลให้ได้รับฟังแล้ว แต่เรื่องนโยบายเป็นอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจ

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังให้ข้อมูลกับนายกฯ เรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้จะขยายตัวแค่ 1.8% ในไตรมาส 2/66 แต่การเติบโตที่ผ่านมา การบริโภคฟื้นตัวได้ดี 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยังขาดเรื่องการลงทุน ที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ธปท.จะออกแนวทางสอดคล้องกับ financial landscape เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มาตรฐานกลาง เช่น ธนาคาร การชำระค่าไฟ ค่าน้ำ มีข้อมูลอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ เพื่อใช้ประกอบขอสินเชื่อ ช่วยลูกค้าได้สินเชื่อสะดวกขึ้น

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ มองว่ายังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอยู่ จากความเสี่ยงด้านพลังงานโลก และจากเอลนีโญ ที่ทำให้ราคาอาหารสูง โดยต้องดูนโยบายการเงินสอดคล้องภาพระยะยาว ดูเงินเฟ้อในกรอบยั่งยืน 1-3% ไม่สร้างพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงช่วงดอกเบี้ยต่ำ ยอมรับว่าดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button