รวมลิสต์ “เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟมากที่สุด” กินไฟน้อยแถมลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยรายเดือน พร้อมแนะนำวิธีที่ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
แนะนำ 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟ กินไฟน้อยที่สุด ใช้กำลังไฟฟ้าเพียงไม่กี่วัตต์ ช่วยลดค่าไฟฟ้าต่อเดือนหลายเท่า ใช้กำลังไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 35 – 80 วัตต์ คิดค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 13 – 30 สตางค์เท่านั้น โดยแนะนำอันดับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อยที่สุดไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด
นอกจากนี้ ทีมงาน เดอะไทยเกอร์ ได้รวบรวมเคล็ด(ไม่)ลับ วิธีช่วยประหยัดไฟ ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ทำเองง่าย ๆ ได้ที่บ้าน ช่วยทั้งประหยัดค่าไฟฟ้าและยังเป็นการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
อันดับ 1 พัดลมไฟฟ้า
ใช้กำลังไฟฟ้า 35 – 80 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 13 – 30 สตางค์ แชมป์เครื่องใช้ไฟฟ้าของเราได้แก่ พัดลมไฟฟ้า นั่นเอง เรียกได้ว่ากินไฟน้อยแบบสุด ๆ สามารถเปิดใช้เพื่อดับร้อนได้ทั้งวันแบบไม่ต้องกลัวค่าไฟพุ่งกันเลยทีเดียว ขนาดพัดลมที่แนะนำอยู่ที่ 12 นิ้ว – 18 นิ้ว
อันดับ 2 ตู้เย็น
ใช้กำลังไฟฟ้า 70 – 175 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 25 – 66 สตางค์ ตู้สวรรค์ที่บรรจุของกิน น้ำดื่ม รวมถึงของสดไว้เพื่อรักษาความเย็นและความสดของวัตถุดิบ ที่สำคัญต้องใช้ตู้เย็นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ด้วยนะครับ มิฉะนั้นแล้วกินไฟเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเลย
อันดับ 3 โทรทัศน์
ใช้กำลังไฟฟ้า 80 – 180 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 – 70 สตางค์ ถือว่ากินไฟน้อยมาก ๆ สำหรับทีวี โดยปัจจุบันทีวีกลายเป็นสมาร์ททีวีหมดแล้ว สามารถรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ผ่านทีวีได้เลย และเชื่อว่าในวันหนึ่งคงเปิดใช้ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง
อันดับ 4 หม้อหุงข้าว
ใช้กำลังไฟฟ้า 450 – 1,000 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 – 6 บาท เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีทุกบ้านจริง ๆ สำหรับหม้อหุงข้าว ส่วนใหญ่มักจะหุงกันวันละครั้ง และเลือกนำมาอุ่นข้าวอีกครั้งสำหรับมื้อถัดไป กินไฟจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของหม้อหุงข้าวที่เลือกใช้
อันดับ 5 เครื่องดูดฝุ่น
ใช้กำลังไฟฟ้า 750 – 1,200 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 3-5 บาท เมื่อรู้ถึงพลังการกินไฟของเครื่องดูดฝุ่นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะอยากเลิกใช้ แล้วหันไปใช้ไม้กวาดแทน แต่จริง ๆ แล้วเราคงไม่ได้ดูดฝุ่นบ่อยขนาดนั้น นาน ๆ ใช้ทีก็คงไม่เปลืองไฟมากนัก
อันดับ 6 ไดร์เป่าผม
ใช้กำลังไฟฟ้า 1,000 – 2,200 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 3-8 บาท ไอเทมสามัญของสาว ๆ และหนุ่ม ๆ ผมยาวสำหรับไดร์เป่าผม ปกติแล้วเรามักจะสระผมวันเว้นวันเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ใช้ครั้งละประมาณ 10-30 นาที
อันดับ 7 เตารีดไฟฟ้า
ใช้กำลังไฟฟ้า 1,000 – 2,600 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 3-8 บาท เห็นจิ๋ว ๆ แบบนี้ก็สูบไฟเก่งไม่แพ้แอร์เลยนะครับสำหรับเตารีด โดยเฉพาะเตารีดไอน้ำ ดังนั้นแล้วหากจะเปิดเตารีดเพื่อรีดผ้า ควรจะนำเสื้อผ้ามารีดอย่างน้อยทีละ 5-6 ตัวเพื่อความคุ้มค่านะครับ
อันดับ 8 เครื่องอบผ้า
ใช้กำลังไฟฟ้า 3,000 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 12 บาท เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟใกล้เคียงกับแอร์ บางทีสภาพอากาศเมืองไทยก็ไม่ค่อยแน่นอน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน จะเอาไปตากก็กลัวฝนตก การใช้เครื่องอบผ้าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ประหยัดเวลา แห้งเร็ว โดยเฉลี่ยเราจะซักประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
อันดับ 9 เครื่องปรับอากาศ
ใช้กำลังไฟฟ้า 1,200 – 3,300 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 5-13 บาท มาแล้วครับสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดที่รักของชาวไทย คือจะเปิดให้ได้ ถ้าไม่เปิดแอร์ฉ่ำ ๆ แล้วหลับปุ๋ยก็คงอยู่ไม่ได้ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าแอร์เนี่ยกินไฟเยอะสุดแน่นอน แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่นะครับ หากแต่เราเปิดบ่อย ๆ วันละหลายรอบก็สูบไฟไปไม่น้อยเช่นกัน
อันดับ 10 เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า
ใช้กำลังไฟฟ้า 3,500 – 12,000 วัตต์ ค่าไฟเฉลี่ยชั่วโมงละ 10-47 บาท เรียกได้ว่าเป็นจอมกินไฟอย่างแท้จริงเลยก็ว่าได้ครับ หากเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นขนาดใหญ่ อาจใช้กำลังไฟทะลุปรอทไปถึง 12,000 วัตต์เลยทีเดียว ยิ่งถ้าครอบครัวใหญ่อาบน้ำหลายรอบก็จะยิ่งกินไฟเพิ่มเติมอีกมากโขเลยทีเดียว กินไฟยิ่งกว่าแอร์อีกนะเนี่ย
9 วิธีช่วยประหยัดไฟ ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า
1. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สภาพดีเสมอ หากชิ้นใดใช้มานานจนเกินไปก็ควรเปลี่ยน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามักกินไฟมาก
2. วางแผนการใช้งานแต่ละครั้งให้ดี เช่น หากจะเปิดใช้เตารีดก็ควรนำมาใช้รีดผ้าทีละมาก ๆ
3. ใช้เครื่องไฟฟ้าที่มีสัญลักษณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากนี้จะกินไฟน้อยกว่ารุ่นที่ไม่มีฉลาก
4. ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อเลิกใช้
5. หากไม่ได้อยู่บ้านให้สับคัทเอาท์ลง
6. หากอากาศไม่ร้อน ควรเปิดหน้าต่างรับลม รับแสงจากธรรมชาติ เพื่อลดการเปิดไฟ เปิดพัดลม และเปิดแอร์
7. ไม่เสียบปลั๊กชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งไว้ เมื่อแบตเตอรี่เต็มแล้วควรถอดปลั๊กชาร์จออก เพื่อลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ด้วย
8. เปิดแอร์ด้วยอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส รวมถึงการปิดแอร์เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงก่อนออกจากบ้านหรือห้อง จะช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
9. เลือกใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟแบบธรรมดา เพราะกินไฟน้อยกว่า อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดไฟธรรมดา
เป็นยังไงบ้างครับสำหรับ 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟที่สุด รวมถึงวิธีประหยัดค่าไฟฟ้าที่ทางทีม Thaiger นำมาฝากทุกคน หวังว่าหลายคนคงจะคลายข้อสงสัยไปได้ไม่มากก็น้อย รวมถึงเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกคนวางแผนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ทุกคนเซฟเงินในกระเป๋ามากยิ่งขึ้นนะครับ
- ขิงกันสนุก กระทู้อวด “เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า” ทนทายาดขั้นสุด 41 ปี ไม่พัง-แถมเปิดติด
- รีวิว 5 แอร์บ้านน่าใช้ ประหยัดไฟ 2022 เลือกแอร์ยี่ห้อไหนดี สู้ค่าไฟแพงได้สบาย