ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เพียง 3 ขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันมะเร็ง
3 ขั้นตอนตรวจเต้านมด้วยตนเอง ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับเช็กมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ที่คุณผู้หญิงทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเต้านม เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันมะเร็ง
หากพูดถึง ‘มะเร็งเต้านม’ เชื่อว่าผู้หญิงหลาย ๆ คนคงจะรู้สึกเป็นกังวลกับโรคนี้ เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ในปี 2565 พบว่า ผู้หญิงไทยตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด เป็นจำนวน 38,559 ราย โดยส่วนมากมะเร็งเต้านมมักพบในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี จำนวน 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี จำนวน 5,177 ราย
ภายในระยะแรกของการเป็นมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการใด ๆ ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีอาการปวด แต่โรคนี้จะปรากฏอาการผิดปกติให้ผู้ป่วยทราบเมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบและลุกลามไปทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นระยะที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอาจตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันระยะเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง
มะเร็งเต้านม เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ โดยส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมมักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงอื่น ๆ อาทิ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ รวมไปถึงการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ปอด ตับ และสมอง
การตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นการเฝ้าระวังมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และไม่ให้มะเร็งเหล่านั้นลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการตรวจเช็กร่างกายเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างต่อเนื่อง
วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยตนเองสามารถทำได้เป็นประจำทุกเดือน ในวันที่ 7-10 นับจากวันแรกที่มีประจำเดือน หากหมดประจำเดือนแล้ว ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ซึ่งวิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง มีดังนี้
1. ยืนหน้ากระจก
การยืนหน้ากระจก เป็นการสังเกตรูปร่างเต้านมของตนเองว่าเป็นเช่นไร บริเวณเต้านมทั้งสองข้างมีความสมมาตรกันหรือไม่
2. การคลำ
การตรวจเต้านมโดยการคลำ มีวิธีการตรวจในท่าท่างที่หลากหลาย ได้แก่
- การคลำเป็นแนวก้นหอย : เริ่มต้นจากการคลำส่วนบนของฐานเต้านมตามก้นหอยไปจนถึงฐานนมบรืเวณรอบรักแร้
- การคลำในแนวรูปลิ่ม : เริ่มต้นคลำจากส่วนบนของเต้านมไปจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด ซึ่งจะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณเต้านม
- กาคลำในแนวขึ้นลง : เริ่มต้นโดยการคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า จากนั้นขยับนิ้วทั้งสาม คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณเต้านม
3. การบีบ
การบีบเป็นการหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ จากนั้นสังเกตว่า มีเลือดหรือของเหลวอื่น ๆ ไหลออกมาหรือไม่
หากตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ทั้งการพบว่าเต้านมมีรูปร่างผิดแปลกไปจากเดิม พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือแม้แต่พบว่ามีของเหลวไหลของออกมาก็ตาม ควรรีบพบแพทย์และตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สามารถได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและป้องกันการลุกลามของมะเร็งเต้านมไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม
- พบก้อนเนื้อหรือพบความผิดปกติอื่น ๆ ในบริเวณเต้านม
- ลักษณะของหัวนมมีรูปร่างบุ๋มหรืองอพับ
- ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋มหรือรอยย่น
- ผิวหนังบริเวณเต้านมมีสีคล้ำหรือสีชมพู
- บริเวณหัวนมมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา
- มีอาการเจ็บปวดบริเวณเต้านม
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมในระยะเบื้องต้น ซึ่ง 80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมจะตรวจพบด้วยตนเอง โดยการพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม การตรวจเช็กเต้านมตนเองอยู่เสมอจึงช่วยให้สามารถรับรู้ได้ว่าลักษณะของเต้านมที่ปกติของตนเองนั้นเป็นอย่างไร แต่หากวันใดที่พบความผิดปกติไปจากเดิมก็จะสามารถพบแพทยได้ทันท่วงที เพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นและมีโอกาสหายขาดจากมะเร็งเต้านมสูง
รับชมคลิปสอนวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ได้ที่นี่