ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เตรียมข้อมูลเกษตรกร ขานรับนโยบายรัฐบาลใหม่ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ส่วนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาททำได้ แต่ยังมองไม่ตรงกลุ่มลูกค้า
ความคืบหน้า “โครงการพักชำระหนี้ (Debt moratorium : DM) และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล” ผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ 2566 ของนายเศรษฐา ทีวสิน ว่าที่นายกคนที่ 30 ซึ่งต้องการพักหนี้เกษตรกรนั้น
ล่าสุด ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแล้ว หลังจากกระทรวงการคลังได้มีการประสานมาทางธ.ก.ส.เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนายฉัตรชัยในฐานะผจก.ของธ.ก.ส. ก็ได้มีการระบุว่า
ตอนนี้ธนาคารได้มีการเตรียมข้อมูลและรายละเอียดของลูกค้าไว้ ทั้งข้อมูลกลุ่มธุรกิจ อายุ มูลหนี้ และอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เป็นต้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการในมิติใดบ้าง
นอกจากนี้ “ธ.ก.ส.” ยังได้เตรียมข้อมูลไว้เสนอรัฐบาลว่าเมื่อดำเนินการแล้ว สิ่งที่กระทบกับแบงก์มีอะไรบ้าง เช่น
จะพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น หรือพักชำระทั้งดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกระแสเงินสด ถ้าเกิดพักชำระเงินต้นแต่ดอกเบี้ยไม่เดินหน้าจะกระทบงบการเงินของธนาคาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางธ.ก.ส. พบว่ายังมีลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ ส่วนนี้ธนาคารอาจจะมีการเพิ่มแรงจูงใจและสนับสนุนให้เข้ามาชำระหนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะใช้โอกาสในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ในการพัฒนาโมบายแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชัน A-mobile เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาใช้ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งจะปรับปรุงแอพให้มีการใช้งานง่ายมากที่สุด
ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล “ธ.ก.ส.” ก็พร้อมรับนโยบายเพราะเทคโนโลยีของธ.ก.ส.มีการพัฒนาแล้ว
แต่ ทั้งนี้ต้องดูบริบทของลูกค้าธ.ก.ส.ด้วย เพราะส่วนมากธ.ก.ส.ประกอบอาชีพเกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้ประกอบอาชีพอยู่ในเมืองจึงอาจทำให้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในระยะ 4 กิโลเมตร (กม.) วัดจากทะเบียนบ้าน แตกต่างจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่ตอบโจทย์ในเรื่องการกระจายตัวของลูกค้ามากกว่า.
ย้อนดูแนวทาง แก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรม นโยบายพักหนี้ 3 ปี พรรคเพื่อไทย ตอนหาเสียง
“สำหรับนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของเพื่อไทยที่สำคัญคือ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี” เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปีด้วยการนำความต้องการตลาดเป็นโจทย์การผลิต, การใช้เทคโนโลยีการเกษตร และนวัตกรรมดิจิทัล
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลมีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายคล้ายกันคือ พรรคเพื่อไทรวมพลัง จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นหนี้เสีย โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับซื้อหนี้ทั้งหมดที่มีในสถาบันการเงินทุกประเภท รวมหนี้นอกระบบด้วย. (อ้างอิงข้อมูลจาก @ptp.or.th).
- ตัวแทนชาวนายื่นร้อง ชลน่าน เดินหน้านโยบายพักหนี้
- ครม.เห็นชอบ 21 มาตรการช่วยอุทกภัย พักหนี้บ้านน้ำท่วม
- พักหนี้เกษตรกร 50% พร้อมแนวทางแก้ปัญหา